ดึงเอกชนลงทุนโรงขยะไฟฟ้า 2 หมื่นล. กทม.แจกสัมปทาน 20 ปีจับตาจีน-ญี่ปุ่นปาดเค้ก

โรงขยะผลิตไฟฟ้า
โรงขยะผลิตไฟฟ้า - กทม.เตรียมเสนอสภาขออนุมัติลงทุนก่อสร้างโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้า 2 แห่ง ที่หนองแขมและอ่อนนุช คาดอีก 3 ปีเสร็จ
ขยะล้นเมือง ! กทม.ทุ่มกว่า 2 หมื่นล้านดึงเอกชนลงทุน 20 ปี สร้างโรงเผาขยะผลิตไฟฟ้า 2 แห่ง “หนองแขม-อ่อนนุช” ชงสภาอนุมัติ พ.ค.นี้ จ่อยกเลิกสัมปทานตระกูลสะสมทรัพย์-ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จับตาบริษัท “จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป” แข่งเสนอเทคโนโลยีชิงเค้ก ด้าน “ซีแอนด์จี” พร้อมสุดขีด

 

ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน พ.ค. 2561 จะมีการประชุมสภาพิจารณาแผนงานลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ กทม.ยังไม่ดำเนินการ เช่น โรงกำจัดขยะไฟฟ้า ซึ่ง กทม.จะลงทุนก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ในพื้นที่หนองแขมกับอ่อนนุช รวมวงเงินก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท หรือประมาณแห่งละ 3,000 ล้านบาท ส่วนค่ากำจัดขยะแต่ละแห่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,330 ล้านบาท จะเป็นงบประมาณผูกพันระยะยาวกว่า 20 ปี

ต้องสร้างโรงกำจัดขยะไฟฟ้า

“โรงกำจัดขยะไฟฟ้าถึงเวลาที่ต้องทำและควรจะทำมาแล้ว 20 ปีที่แล้ว เพราะ กทม.มีปัญหาเรื่องขยะมานาน ที่ผ่านมาก็จ้างเอกชนขนไปฝังกลบ แต่จะมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่หากสามารถสร้างโรงขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ก็จะดี แต่ฝ่ายบริหาร กทม.จะต้องทำข้อมูลที่มาของโครงการ และการใช้เงินลงทุนให้ชัดเจน”

นายวุฒิเลิศ มณีโรจน์ ผู้อำนวยการกองโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการลงทุนโครงการก่อสร้างโรงกำจัดขยะไฟฟ้า 2 แห่ง ที่อ่อนนุชและหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ได้ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา กทม. จัดสรรงบประมาณค่าจ้างเอกชนบริหารจัดการโครงการ จากนั้นถึงจะดำเนินการจัดหาเอกชนตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556

ดึงเอกชนลงทุน 20 ปี

รูปแบบการลงทุนจะเป็นลักษณะเดียวกับโรงเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าที่หนองแขม พื้นที่ 30 ไร่ ขนาด 300-500 ตันต่อวัน โดยเอกชนจะลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการระยะเวลา 20 ปี กับโรงเตาเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกที่หนองแขม พื้นที่ 30 ไร่ ขนาด 300-500 ตันต่อวัน โดยเอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการ โดยได้รับผลตอบแทนที่ กทม.จ่ายเป็นค่ากำจัดขยะให้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี

“พื้นที่ก่อสร้างโครงการ จะใช้ที่ดินของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขมเดิม แต่ละแห่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2562-2564 โครงการจะเดินหน้าได้เร็วเพราะได้รับการยกเว้นตามคำสั่งหัวหน้า คสช.และประกาศของกระทรวงมหาดไทยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA จะทำแค่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ท้องถิ่นหาผู้ลงทุนโรงกำจัดขยะที่สามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้งานได้”

กทม.เก็บขยะวันละ 10,551 ตัน

นายวุฒิเลิศกล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บขยะมูลฝอยตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 มี.ค. 2561 อยู่ที่ 10,551 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จัดเก็บได้ 10,526 ตันต่อวัน โดยมีที่รองรับขยะ 3 แห่ง ได้แก่ 1.อ่อนนุช รับได้ 4,000 ตันต่อวัน แยกไปทำปุ๋ย 600 ตันต่อวัน อีก 3,400 ตันจะนำไปฝังกลบ 2.หนองแขม รับได้ 4,000 ตันต่อวัน แยกไปเผา 500 ตัน อีก 3,500 ตัน นำไปฝังกลบ และ 3.ที่ท่าแร้ง สายไหม รับได้ 2,500 ตันต่อวัน นำไปฝังกลบทั้งหมด อีก 1 แห่ง ที่หนองแขม เป็นโรงเตาเผาขยะไฟฟ้า รับได้ 500 ตันต่อวัน

จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรปแห่ชิงเค้ก

รายงานข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงขยะไฟฟ้าจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศจีน ญี่ปุ่นและยุโรป รวมถึงเอกชนรายเดิมที่ กทม.จ้าง ขนขยะไปฝังกลบก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ได้แก่ บริษัท กลุ่ม 77 จำกัดของตระกูลสะสมทรัพย์ รับขนขยะที่หนองแขมกับสายไหมไปกำจัดที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จำกัด รับขนขยะที่อ่อนนุช ไปกำจัดที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

“เมื่อโรงขยะไฟฟ้าแล้วเสร็จ ใน 3 ปีข้างหน้า กทม.จะยกเลิกการฝังกลบ หากเอกชนรายเดิมทั้ง 2 รายไม่เข้าประมูลก็หมดสิทธิ์รับงานของ กทม.”

ซีแอนด์จีสนใจประมูล

นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้ากำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทรับขยะจาก กทม.ใน 5 เขต ได้แก่ ทวีวัฒนา หนองแขม จอมทอง ภาษีเจริญ และบางกอกใหญ่ ในปริมาณ 500 ตันต่อวัน มากำจัดด้วยเทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้อุณหภูมิในการเผาไหม้ 1,000 องศาเซลเซียส สามารถนำขยะที่กำจัดมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้วันละ 200,000 ยูนิต ส่งขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วันละ 7 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นจะนำไปวนใช้ในโรงกำจัดขยะ

โดยบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน 3 มาตรฐานด้วยกัน ได้แก่ 1.มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 2.ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และ 3.ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001 เป็นไปตามมาตรฐานทั้งในประเทศและระดับสากล ทั้งนี้บริษัทพร้อมจะเข้าร่วมประมูลโรงกำจัดขยะไฟฟ้าของ กทม.ทั้ง 2 แห่ง