ขยะล้นเมืองกรุง 3.8 ล้านตัน “จตุจักร-บางกะปิ-บางขุนเทียน” มากสุด

“กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทย เพิ่งครบรอบ 236 ปี ไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2561 ต้องยอมรับว่าท่ามกลางความเจริญของเมือง ย่อมมาพร้อมกับสารพัดปัญหาเสมอ หนึ่งในนั้น “ปัญหาขยะมูลฝอย” ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ ด้วยปริมาณล้นทะลักทุกปี

 

มีข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ช่วงวันที่ 1 ต.ค. 2560-31 มี.ค. 2561 กทม.มีปริมาณขยะมูลฝอยทั้งสิ้น 1,920,294.96 ตัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 10,551.07 ตันต่อวัน โดย “กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้” มีปริมาณขยะมากที่สุด รวม 385,686.71 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 2,119.16 ตัน

ถัดมา “กลุ่มกรุงเทพฯตะวันออก” มีปริมาณขยะรวม 343,424.73 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 1,886.95 ตัน “กลุ่มกรุงเทพฯเหนือ” รวม 313,137.13 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 1,720.53 ตัน “กลุ่มกรุงเทพฯกลาง” รวม 298,294.05 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 1,638.98 ตัน “กลุ่มกรุงธนฯใต้” รวม 262,110.57 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 1,440.17 ตัน

“กลุ่มกรุงธนฯเหนือ” รวม 210,044.20 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 1,154.09 ตัน และจากกองจัดการขยะมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม และแหล่งอื่น ๆ อีก 107,597.87 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 591.20 ตัน รวมเบ็ดเสร็จ 1,920,294.96 ตัน

เมื่อเจาะรายเขตทั้ง 50 เขต พบว่า เขตจตุจักร มีปริมาณขยะมากที่สุด 76,881.90 ตัน ตามมาด้วยเขตบางกะปิ 60,942.61 ตันต่อปี และเขตบางขุนเทียน 60,570.05 ตัน

ขณะที่ปริมาณขยะทั้งปี 2561 “ชาตรี วัฒนเขจร” รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.คาดการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยที่จัดเก็บได้อยู่ที่ 3,832,500 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 10,500 ตัน ลดลง 9,826.77 ตัน จากปี 2560 ที่เก็บได้ 3,842,326.77 ตัน แต่ค่าเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 589.01 ตัน โดยเป็นการปรับตามนโยบายของ กทม. ที่จะต้องลดปริมาณขยะให้ได้ปีละ 7%

ส่วนการที่ กทม.จะสร้างโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าอีก 2 แห่ง ที่หนองแขม และอ่อนนุช ไม่มีผลกับการปรับคาดการณ์แต่อย่างใด เพราะเป็นปลายทางของการบริหารจัดการปริมาณขยะมูลฝอยเท่านั้น แต่ต้องไปดูที่ต้นทาง เช่น การคัดแยกขยะของแต่ละครัวเรือน การบริโภคของประชาชน ความรู้พื้นฐานในการจัดการขยะของแต่ละครัวเรือนด้วย

รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ยอมรับว่า การจะทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงตามเป้าที่ตั้งไว้นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ แม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แล้วก็ตาม อีกทั้ง กทม.มีจำนวนประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก แถมอัตราการเกิดของประชากรก็มีแนวโน้มสูง

นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐก็ส่งผลกระทบกับปัญหานี้ด้วย เช่น การประกาศให้ กทม.เป็นเมืองท่องเที่ยวโลก, นโยบายส่งเสริมร้านอาหารริมทาง (street food) เพราะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาใช้สอยทรัพยากรและเพิ่มปริมาณขยะอีกเป็นจำนวนมาก