กรมทางหลวงชนบทเร่งเวนคืน ขยายถนน 4 เลน จ.ระยอง 2 สาย หนุน EEC

แฟ้มภาพประกอบข่าว

กรมทางหลวงชนบทดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย รย.3013 แยกทางหลวงหมายเลข 331-ทางหลวงหมายเลข 3191 อำเภอปลวกแดง และถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยกทางหลวงชนบท 3138 – ทางหลวงหมายเลข 344 อำเภอบ้านค่าย, วังจันทร์ จังหวัดระยอง

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor ; EEC)
เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุด และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในระดับโลกด้านการลงทุนและเป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน

ในปีงบประมาณ 2561 กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนเพื่อสนับสนุน EEC จำนวน
2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างขยายถนนทางหลวงชนบทสาย รย.3013 แยกทางหลวงหมายเลข 331 – ทางหลวงหมายเลข 3191 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 17.324 กิโลเมตร ปัจจุบันผู้รับจ้างได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินงานเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจแนวการก่อสร้างและแนวเวนคืน

2.โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยกทางหลวงหมายเลข 3138 – ทางหลวงหมายเลข 344 อำเภอบ้านค่าย, วังจันทร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 32.807 กิโลเมตร ปัจจุบันผลการก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 5 ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างชั้นรองพื้นทางลูกรัง ได้ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร โดยทั้ง 2 โครงการ มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว โดยถนนทั้ง 2 สาย ผ่านนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมสยามอินดัสเทรียลพาร์ค นิคมอุตสาหกรรม IRPC สวนอุตสาหกรรมโรจนะ

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 เป็นเส้นทางที่สามารถขนส่งจากอำเภอบ้านค่าย ไปยังตลาดกลางยางพาราตะวันออก อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง อีกทั้งช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใน EEC เชื่อมโยงกันได้มากขึ้น จากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ ที่ประสานกัน ตลอดจนเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครที่เป็นศูนย์กลางการบริโภคและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เกิดการพัฒนาเมือง และสนับสนุนการท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น