บี้ BTS-BEM จูน”ระบบตั๋วร่วม” พ่วงบัตรสวัสดิการ

“อาคม” เร่งระบบตั๋วร่วม ดีเดย์ ส.ค.ชง ครม.ไฟเขียว ดันคิกออฟพร้อมบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ต.ค.นี้ หนุนคลังเต็มสูบ ดึงใช้รถไฟฟ้าฟรี เพิ่มจากรถเมล์-รถไฟ สั่งเจรจาบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ยกเครื่องระบบรับบัตรแมงมุม วงในเผยคาดอาจดีเลย์ สุดท้ายเป็นได้แค่ตั๋วต่อ รอ พ.ร.บ.คลอด คาดกลางปีหน้าฉลุยเต็มรูปแบบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอกระทรวงการคลังให้บัตรสวัสดิการจะรองรับผู้มีรายได้น้อย สามารถใช้กับรถไฟฟ้าได้ตามโควตาค่าเดินทางที่รัฐจัดสรรให้ เนื่องจากในบัตรสวัสดิการนั้น จะใส่ระบบบัตรแมงมุมด้วย ซึ่งปัจจุบันบัตรสวัสดิการใช้ได้กับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถโดยสารบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถไฟเท่านั้น

“จะขอคณะรัฐมนตรีให้ขยายฐานการบริการของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จากเดิมสามารถขึ้นรถไฟและรถเมล์ ขสมก.ฟรี ต่อไปจะรวมถึงรถไฟฟ้าทุกระบบด้วย คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน ต.ค.พร้อมกับระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมที่เราจะนำมาใช้บริการ”

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่รัฐบาลตั้งเป้าจะให้วันที่ 1 ต.ค. 2560 สามารถนำบัตรสวัสดิการให้ใช้กับรถไฟฟ้าได้ด้วยนั้น จากการประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน และทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้รับผิดชอบจัดทำระบบตั๋วร่วม ได้แจ้งผ่านอธิบดีกรมบัญชีกลางไปแล้ว เนื่องจากบัตรแมงมุมยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

“เหมือนกับเราขายสินค้าแต่ไม่มีคนซื้อ เราก็ต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้มีคนซื้อของเรา เงินที่กระทรวงการคลังจัดสรรให้เฉลี่ยคนละ 600 บาท ต่อเดือน หากไม่อยากเสียโอกาสก็ต้องเร่งให้สามารถรองรับบัตรสวัสดิการนี้ได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทาง สนข.เตรียมเสนอแผนการจัดทำตั๋วร่วม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในต้นเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นหน่วยงานที่เป็นโอเปอเรเตอร์ คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการเจรจากับเอกชนอย่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อปรับปรุงระบบฮาร์ดแวร์รถไฟฟ้าสามารถรองรับบัตรแมงมุมได้

“ต.ค.นี้ การใช้บริการบัตรแมงมุมยังคงเป็นรูปแบบการใช้แบบตั๋วต่อ คือ ถือบัตรใบเดียวสามารถเข้าใช้รถไฟฟ้าได้ทุกระบบ รวมถึงรถเมล์ ขสมก. โดยจ่ายค่าโดยสารปกติ ส่วนการลดราคาหรือมีส่วนลดให้กับการบริการภาคขนส่งต้องรอมติ ครม.ก่อน ขณะนี้กำลังเร่งติดตั้งเครื่องอ่านระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีม่วง” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ส่วนหน่วยงานบริหารจัดการตั๋วร่วม (CTC) จะจัดตั้งหน่วยงาน ประกอบด้วย สนข. รฟม. และธนาคารกรุงไทย เป็นผู้บริหารจัดการไปก่อน เนื่องจากต้องรอ พ.ร.บ.ระบบตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะให้อำนาจหน่วยงานที่กำกับดูแลตั๋วร่วม กำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมตั๋วร่วม และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้ จะเปิดรับฟังประชาพิจารณ์ คาดว่าจะเสนอ ครม.ปลาย ส.ค.-ก.ย. 2560 จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติ ซึ่งตั๋วร่วมจะได้ใช้เต็มรูปแบบน่าจะประมาณกลางปี 2561