บิ๊กดีลชิงเมกะเวิลด์ EEC BTS จูงไทย-ดูไบลุยไฮสปีด 2 แสนล้าน

โครงการเมกะเวิลด์ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท กำลังเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนทั่วโลก พลันที่รัฐบาล คสช.ประกาศจะเปิดประมูลแบบนานาชาติ

ถึงขณะนี้โฉมหน้าผู้ท้าชิงยังไม่เปิดเผย แต่ในทางลับบิ๊กธุรกิจกำลังเจรจาผนึกพันธมิตรกันฝุ่นตลบ ทั้งนักลงทุนไทยและเทศ โดยเฉพาะ 2 มหาอำนาจแห่งเอเชียอย่าง “จีน-ญี่ปุ่น” ก็รุกไทยหนักไม่แพ้กัน

ว่ากันว่าฉากสุดท้ายน่าจะเห็นดีลใหญ่ระดับบรรลือโลก เพราะเป็นงานใหญ่ระดับชาติ อาจจะเห็นการรวมตัวเฉพาะกิจของบิ๊กธุรกิจไทยทั้งรถไฟฟ้า รับเหมา อสังหาฯ และค้าปลีก ลงขันผลักดันโครงการเพื่อชาติ

เมื่อเนมชื่อบริษัทใหญ่ในประเทศไทยมีศักยภาพจะลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินได้ มีไม่กี่ราย

กำลังรุกหนัก มี “ปตท.” ยักษ์ธุรกิจด้านพลังงาน “ซี.พี.” ของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” และ “บีทีเอส” ธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ปีก “คีรี กาญจพาสน์”

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่สะเด็ดน้ำ ใครจะผนึกกำลังกับใคร แต่ที่แน่ ๆ “บีทีเอส” ผนึกเหนียวแน่นกับ “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ธุรกิจรับเหมาของตระกูลชาญวีรกูลและ “บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง” จะเข้าร่วมประมูลงานในนามกิจการร่วมค้า BSR ส่วนจะมีรายที่ 3-4 เป็น “ปตท.หรือ ซี.พี.” อยู่ในบัญชีด้วยหรือไม่ การเจรจายังไม่เป็นที่ยุติ

“คีรี กาญจนพาสน์” ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า หลังกลุ่ม BSR ร่วมกันลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) มีความพร้อมจะเข้าประมูลทุกโครงการด้านระบบรางทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

“จริง ๆ ผมก็ไม่รู้ว่าใครจะลงทุนบ้าง แต่เป็นธุรกิจหลักของเรา ยังไงต้องเข้าร่วมทุกโครงการ พันธมิตรเดิมเราหลังร่วมงานกันก็มีความสุข จะร่วมกันต่อ ส่วนจะมีใครมาเพิ่มอีก เรากำลังคุยกัน ไม่ว่า ปตท.หรือรายอื่น ๆ ยังไม่จบ เพราะเงินลงทุนเป็นแสน ๆ ล้าน กำหนดยากและรอดูทีโออาร์ด้วย”

และไม่ใช่แค่ “ปตท.-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้ง” ล่าสุดเจ้าพ่อบีทีเอสกำลังจะดึง “ดีเวลอปเปอร์อสังหาฯ” จากดูไบมาร่วมลงทุนด้วย หลังมองเห็นช่องทางจาก “บมจ.ยูซิตี้” ผู้พัฒนาอสังหาฯในเครือ จับมือ “นาคีล” ไปลงทุนโรงแรมที่ดูไบ

“เราพร้อมทั้งเงินลงทุนและพันธมิตร ไม่จำเป็นต้องร่วมกับต่างชาติก็ได้ อาจจะเป็นบริษัทไทยด้วยกันรวมตัวกันลงทุนและนำเทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามาก็ได้ ถามว่าจำเป็นไหมต้องมีต่างชาติด้วย ก็จำเป็นไม่มาก เราก็มีพันธมิตรจากดูไบที่จะชวนมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในไฮสปีดเทรนด้วย”

ด้าน “ปตท.” หลังซุ่มเจรจากับ “บีทีเอส”มานานกว่า 3 เดือน ล่าสุดคณะกรรมการบริษัททุบโต๊ะอนุมัติให้ 2 บริษัทลูก คือ บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซื้อซองประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนหลายด้าน เช่น อสังหาฯ ไฟฟ้า รถไฟฟ้า

ขณะที่ “ซี.พี.” ถึงจะมีเงินทุนเต็มหน้าตัก มีบริษัทในเครือทำธุรกิจอสังหาฯ และพันธมิตรจากจีนมาหนุน แต่ไม่มีความถนัดด้านรถไฟฟ้า จึงต้องเฟ้นหาพันธมิตรมาเติมเต็มให้ “ซี.พี.” คว้าโครงการใหญ๋มาครองให้สำเร็จ หลังเจรจากับ “ปตท.” ไม่ลงตัว ล่าสุด “ซี.พี.” เปิดเกมรุกบุกเจรจากับกลุ่ม BSR เป็นพันธมิตร แต่ยังไม่สรุป

“ซี.พี.มีความสัมพันธ์อันดีกับซิโน-ไทยฯ หนึ่งในพันธมิตรของบีทีเอส เพราะก่อสร้างงานอาคารให้หลายแห่ง แต่ยังไม่สรุปจะร่วมกันหรือไม่ ต้องดูหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ใครจะเป็นแกนนำตรงนี้สำคัญ เพราะทั้ง ซี.พี.และบีทีเอสก็ใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ รวมถึงต้องดูทีโออาร์ที่จะออกมาด้วย” รายงานข่าวกล่าว

ฝั่ง “ช.การช่าง” ทาง “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์” ย้ำชัดพร้อมเข้าประมูล โดยจะร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM) ส่วนจะมีพันธมิตรใหม่เพิ่มหรือไม่ ขอดูทีโออาร์ก่อน

ด้านพี่ใหญ่ของวงการรับเหมา “อิตาเลียนไทยฯ” ยังไม่รู้จะฝ่าวิกฤตคดีเสือดำ จนสามารถเข้าสนามประมูลได้หรือไม่ เพราะถึงบิ๊กบอส “เปรมชัย กรรณสูต” จะย้ำชัดไม่ส่งผลกระทบต่องานโครงการต่าง ๆ แต่ว่ากันว่าขณะนี้มีภาคเอกชนหลายรายตั้งท่าจะบอยคอตยักษ์รับเหมารายนี้บ้างแล้ว


ใครจะผนึกกับใคร ภาพคงจะชัดมากขึ้นหลังทีโออาร์คลอดปลายเดือน พ.ค.นี้