เปิดใช้แล้วถนน 4 เลน เชื่อมด่านบ้านคลองลึก บูมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสระแก้ว

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 33 – ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทาง 15.425 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรแล้ว เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว สนับสนุนการเดินทางและการขนส่ง แก้ไขปัญหาจราจร และส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคเซียน และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดยเริ่มจากการพัฒนาด่านการค้าชายแดนและโครงข่ายคมนาคมบริเวณประตูการค้าหลักของประเทศ ระยะแรกได้กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษตราด ตาก มุกดาหาร สระแก้ว และสงขลา ซึ่งกระทรวงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและเชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทาง ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 33 – ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม.0+000 โดยแยกจากถนนทางหลวงหมายเลข 33 (กม.293+500) สิ้นสุดโครงการที่ กม.15+425 ซึ่งบรรจบกับถนนทางหลวงหมายเลข 33
(กม.304+019) บริเวณด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก รวมระยะทาง 15.425 กิโลเมตร

ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กยกระดับข้ามทางรถไฟและสะพานข้ามคลอง รวม 3 แห่ง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณสะพานจุดกลับรถและทางแยก เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เส้นทาง

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนสัญจร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในชุมชน เชื่อมโยงฐานการผลิตสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมไปสู่ตลาดผู้บริโภค สนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าระหว่างชายแดนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

โดยรถที่มาจาก อ.วัฒนานคร สามารถใช้เส้นทางเข้าสู่ อ.อรัญประเทศ เพื่อเดินทางไปด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก และรถจากด่านผ่านแดนฯ สามารถกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคโดยใช้เส้นทางเป็นทางเลี่ยงชุมชนที่มีการจราจรคับคั่ง สามารถลดต้นทุนการขนส่ง สนับสนุนการท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และส่งเสริมการจ้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่