10 SMEs อสังหาฯรวมตัวเรียกร้อง 7 มาตรการยาแรง สกัดวิกฤตลาม

กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซัพพลายเชนอสังหาฯ เจอวิกฤต “วัสดุก่อสร้าง-รับเหมา-ตกแต่ง” รวมตัวเรียกร้อง 7 มาตรการยาแรงฟื้นภาคอสังหาฯ เผยกำลังซื้ออ่อนแรง​-ออร์เดอร์หดหาย จนถึงลูกค้าเลื่อนรับสินค้าไม่มีกำหนด ยอมรับผู้ประกอบการบางแห่งปลดพนักงานกว่า 50%

วันที่ 20 กรกฎาคม2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง โรงงานวัสดุก่อสร้าง ผู้ออกแบบ ตกแต่งสถานที่และการจัดสวน ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสียงถึงรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เดินหน้าผ่านวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวในครั้งนี้

“วัสดุก่อสร้าง-รับเหมา-ตกแต่ง” รวมตัวเรียกร้อง

แถลงการณ์ของ 10 ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานภาคอสังหาริมทรัพย์ มีตั้งแต่บริษัทอายุไม่ถึง10 ปี ไปจนถึงโรงงานที่ดำเนินกิจการมากว่า 60 ปี ระบุว่า หลังจากที่ได้พยายามปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบมาเป็นระยะ ๆ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอด Supply Chain ได้รับผลกระทบแบบโดมิโน จนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก

กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ ระบุว่า วิกฤตที่เผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเผชิญมา และเทียบได้กับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ถึงแม้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540 นั่นปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน แต่ในวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มชัดเจนในช่วงโควิด-19 และในครั้งนั้นผู้ประกอบการได้ปรับตัวรอบใหญ่ไปแล้ว ทั้งการปรับโครงสร้างพนักงาน การปรับลดสวัสดิการ ลดเวลาการทำงาน การขยายฐานลูกค้าใหม่

อย่างไรก็ตามภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19 ยังคงส่งผลให้การเงินในปัจจุบันมีความฝืดเคือง ซึ่งหลายแห่งพยายามบริหารจัดการและรับมืออย่างเต็มกำลัง แต่หากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาฯ ยังไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะส่งผลกระทบลุกลามไปสู่การปลดพนักงานก็เป็นได้ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลต่อฐากำลังสำคัญของประเทศ เนื่องจากภาค SMEs ถือเป็นผู้จ้างงานที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของประเทศไทย

เสนอ 7 มาตรการยาแรงในการฟื้นอสังหาฯ

มาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นยาแรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบัน บรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที 7 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

Advertisment

มาตรการซอฟต์โลนสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้สามารถรับมือกับสถานการลูกหนี้การค้าค้างชำระเงินนานขึ้นได้

มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก รวมถึงยกเลิกมาตรการ LTV สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 และที่ 3

Advertisment

มาตรการดึงกำลังซื้อจากกลุ่มคนทำงานที่เป็นต่างชาติ (Expat) เช่นขยายเพดานการถือครองที่ดิน เป็น 99 ปี และขยายเพดานสัดส่วนการซื้อคอนโดมิเนียมสูงขึ้นเป็น 75%

มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและการลดหย่อนภาษี
ลดภาษีนำเข้าสำหรับภาคการผลิต เพื่อช่วยลดราคาต้นทุนการผลิต

ลดค่าสาธารณูปโภคสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงลดเงินสมทบในการนำส่งประกันสังคม
จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำ

ยอมรับบางแห่งต้องปลดพนักงานกว่าครึ่ง

แถลงการณ์ร้องเรียนของกลุ่มผู้ประกอบการในห่วงโซ่อสังหาฯ ระบุว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมา รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณา มองว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งอยากจะร้องขอภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการทำงาน สนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง เพื่อบรรเทาปัญหาที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตในกลุ่มของตนในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการหลายภาคส่วนได้ทำการปลดพนักงานไปแล้วจำนวนมาก บางแห่งลดพนักงานไปมากกว่าครึ่ง
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางราย ได้นำเงินทุนสะสมมาใช้ในการจ่ายภาระที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed cost) ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเงินทุนสะสมก็จะหมดลงไปและนำไปสู่การปลดคนงานทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศในวงกว้าง

เปิดรายชื่อ 10 ผู้ประกอบการร่วมยื่นข้อเสนอ

1.บริษัท กรีนสเปซ จำกัด ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานภูมิทัศน์ตามแบบ รวมถึงบริการจัดหาต้นไม้ มีพนักงานประมาณ 350 ชีวิต ปัจจุบันได้รับผลกระทบในเรื่องของปริมาณที่น้อยลงอย่าง เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านแนวราบหรืองานคอนโดมิเนียมแนวสูง

2.บริษัท คริสตัลวิว วินโดว์แอนด์ดอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและติดตั้งประตูหน้าต่างอลูมิเนียมให้กับโครงการบ้านพักอาศัย คอนโดฯ อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล เป็นต้น เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 30 ปี มีพนักงานประมาณ 180 คน ปัจจุบันการเงินของบริษัทมีความฝืดเคือง เนื่องจากภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19

3.บริษัท จินดาโชติ จำกัด ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีพนักงานราว 100 คน ตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบจากสภาวะงานก่อสร้างชะลอตัว ทำให้พนักงานภายในบริษัทขาดสภาพคล่องในการดำเนินชีวิต

4.บริษัท ไทย สแทร์ จำกัด ประกอบธุรกิจงานเหล็กบันไดมีพนักงานกว่า 200 คน จากแผนงานชะลอในทุก Developer ทำให้รายรับลดลง

5.บริษัท ใบหญ้า สตูดิโอ จำกัด ประกอบธุรกิจผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม งานออกแบบตกแต่งภายใน ได้รับผลกระทบในส่วนของปริมาณงานออกแบบทั่วไปและจาก Developer ลดลงโดยประมาณ 20%

6.บริษัท ฟายด์ เวอร์ค จำกัด ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนพรีคาส โรงงานประกอบประตูรั้วงานเหล็ก และงานอะลูมิเนียม ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 32 มีพนักงานราว 470 คน ปัจจุบันบริษัทยอมลดสัดส่วนกำไรเพื่อให้ได้มีปริมาณงานเข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร เป็นการรักษาสถานะบริษัทให้คงอยู่และให้ทุกคนในบริษัทยังมีงานทำ

7.บริษัท เฟรมเทค วินโดว์ แอนด์ ดอร์ จำกัด โรงงานประกอบและติดตั้งงานประตู หน้าต่างอะลูมิเนียม พร้อมกระจก งานบ้านและงานอาคารสูง ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 20 มีพนักงาน 500 คน ปัจจุบันยอดขายบริษัทตกลงอย่างต่อเนื่อง และลูกค้าค้างชำระหนี้การค้ายาวนานเสี่ยงหนี้สูญ ต้องกู้เงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมากเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ

8.บริษัท สยามแกรนด์ อลูมิเนียม จำกัด โรงงานผลิตและติดตั้งประตู-หน้าต่างอลูมิเนียม มีพนักงาน 215 คน เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีการชะลอตัวอย่างมาก ส่งผลกระทบให้ไม่มียอดรายการในการผลิตงาน ไปจนถึงรายการที่ผลิตแล้วเลื่อนส่งสินค้าแบบไม่มีกำหนด

9.บริษัท เอส.เอช.แอล.พาราวู้ด จำกัด ผลิตพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ผลิตวัสดุปูพื้น ไม้บันได ไม้ยางพาราแปรรูป ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 60 มีพนักงานทั้งสิ้น 300 คน ประสบปัญหากำลังซื้ออ่อนตัวลง หนี้ครัวเรืองสูง อสังหาริมทรัพย์ขายออกยาก ธนาคารปล่อยสินเชื่อยาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ทั้งหมดอย่างแน่นอน

10.บริษัท เอ็ม.เอ็ม. เค คอมเมอร์เชียล จำกัด ประกอบธุรกิจพื้นไม้ลามิเนต พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 24 มีพนักงาน 58 ชีวิต ปัจจุบันพบว่าทั้งลูกค้าใหม่และเก่า ชะลอตัวและหยุดสั่งซื้อสินค้าทำให้เกิดผลกระทบในด้านการเงินเพื่อประคับประคองทั้งธุรกิจและพนักงาน