กทม.รื้อเกณฑ์เชื่อมสกายวอล์กบีทีเอส ยึดต้นแบบรฟม.ค่าฟีจุดละ 30 ล้าน-แห่ยื่น 7 ราย

ฟุตปาทลอยฟ้า - การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่และรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเพิ่มระยะทางมากขึ้น ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ในแนวเส้นทางมีความต้องการขอทำทางเชื่อมสกยวอล์ก ซึ่งเป็นเทรนด์การพัฒนาโครงการในยุคปัจจุบัน
แห่ลงทุนสร้างทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กทม.รื้อเกณฑ์ใหม่ใช้โมเดล รฟม. เป็นต้นแบบ เก็บค่าแรกเข้าเป็นก้อนแห่งละ 30 ล้าน จ่ายค่าเช่ารายปี ปรับเพิ่มปีละ 5-10% ยาว 15 ปี เผยมี 7 รายรอใบอนุญาต เจ้าพ่อชาเขียวอิชิตัน “ตัน ภาสกรนที” ขอพ่วงสถานีทองหล่อ เทียบหน้าตึก T-One ดีเดย์ มิ.ย.นี้เปิดใช้ทางเดินเชื่อมหมอชิต ยาว 480 เมตร

 

นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.อยู่ระหว่างปรับหลักเกณฑ์การขอเชื่อมทางเดินลอยฟ้า (sky walk) กับรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานราชการ บีทีเอสและบริษัทเอกชนในแนวเส้นทางขออนุญาตก่อสร้างจำนวนมาก จึงต้องปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

“เดิมในแนวเส้นทางเป็นสัมปทานกับบีทีเอส ทางเอกชนที่จะสร้างทางเชื่อมจะดำเนินการผ่านบีทีเอส ซึ่งบีทีเอสจะเสนอโครงการมาให้ กทม.ออกใบอนุญาตให้ แต่หากเป็นส่วนต่อขยายที่กทม.ลงทุนเอง มีช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า เอกชนจะยื่นขออนุญาตมาที่ กทม. รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคตด้วย”

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ขณะนี้ร่างปรับปรุงระเบียบการคิดค่าตอบแทนจากการให้เอกชนสร้างสกายวอล์กเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งโครงข่ายแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการพิจารณาของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. หากได้รับอนุมัติจะออกเป็นประกาศกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที เมื่อเอกชนรายไหนจะขอสร้างสกายวอล์กเชื่อมบีทีเอส หรือต่อสัญญาจะต้องใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนมาขอสร้างสกายวอล์กอยู่หลายแห่ง

“แนวคิดที่ใช้มี 2 แนวคิด คือ 1.หากต้องการอำนวยความสะดวกให้คนเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าจะคิดในราคาที่ถูก และ 2.หากต้องการให้ กทม.มีรายได้เพิ่มจะต้องเก็บในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งทางผู้ว่าฯยังไม่สรุปจะเลือกแนวทางไหน ซึ่งรายละเอียดที่ปรับปรุงจะมีค่าธรรมเนียม ค่าดูแลรักษา ทำความสะอาด ให้เป็นมาตรฐาน หากเป็นการต่อเชื่อมใหม่จะมีคิดค่าเชื่อมเพิ่ม เป็นต้น”

ทั้งนี้ ในเกณฑ์เดิม กทม.ออกประกาศเป็น “การอนุญาตและค่าตอบแทนการสร้างทางเชื่อมระหว่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร” ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มีสาระสำคัญ เช่น ความกว้าง ต้องเพียงพอต่อการสัญจรและเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (2542) ภายใต้ พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 2524 ฯลฯ ความสูง รถดับเพลิงเข้า-ออกได้สะดวก ฯลฯ

ด้านค่าตอบแทนคิดอยู่ที่ 5-25% ของมูลค่างานก่อสร้าง รวมทั้งมีค่าตอบแทนรายปีอีกปีละ 4% ของราคาประเมินที่ดินบริเวณทางเชื่อมที่ก่อสร้าง

สำหรับอัตราผลตอบแทนใหม่ กทม.ใช้รูปแบบเดียวกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เรียกเก็บเป็นก้อน และคิดค่าเช่ารายปี โดย รฟม.คิดค่าตอบแทนแห่งละ 30 ล้านบาท ให้เช่าพื้นที่เป็นระยะเวลา 15 ปี และต่อได้อีก 15 ปี มีเงื่อนไขจ่ายเงินก้อนแรกวันเซ็นสัญญา 20% จากนั้นคิดผลตอบแทนรายปี ปรับเพิ่มปีละ 5-10%

ส่วนของบีทีเอสซีจะพิจารณารายสถานี มีค่าเชื่อมทางเฉลี่ย 100,000-120,000 บาท/ตร.ม. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 40,000-60,000 บาท/ตร.ม.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีโครงการสกายวอล์กที่บีทีเอสกำลังขออนุญาตจาก กทม. และเอกชนที่ยื่นมายัง กทม.โดยตรง รวมจำนวน 7 โครงการ ได้แก่ 1.สถานีเพลินจิตเชื่อมกับอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2.สถานีอ่อนนุชเชื่อมกับศูนย์การค้าเซ็นจูรี่พลาซ่า 2

3.สถานีอโศกเชื่อมกับโรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพฯ สุขุมวิท 4.สถานีทองหล่อ เชื่อมกับอาคารสำนักงาน T-One ของนายตัน ภาสกรนที 5.สถานีชิดลมเชื่อมโรงแรมโนโวเทลกับโครงการสกายวอล์กบางกอกสกายไลน์ 6.สถานีชิดลมเชื่อมกับอาคารเดอะมาร์เก็ตอยู่ด้านข้างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ กับโครงการสกายวอล์กบางกอกสกายไลน์ และ 7.สถานีบางจากที่บริษัทบางจากขอสร้างสกายวอล์กเชื่อมกับอาคารเอ็ม ทาวเวอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในเดือน มิ.ย.ทางบีทีเอสจะเปิดสกายวอล์กเชื่อมสถานีหมอชิต ระยะทาง 480 เมตร ใช้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท สร้างทางเชื่อมเกาะใต้โครงสร้างรถไฟฟ้าขนานไปกับเกาะกลาง ถนนพหลโยธิน เชื่อมสถานีหมอชิตถึงซอยพหลโยธิน 18 เข้ามอลล์ในโครงการเดอะไลน์ หมอชิต-จตุจักร