เปิดหนี้ก้อนโต 1.1 แสนล้าน กทม.เซ็งลี้ BTS แลกสัมปทาน

คอลัมน์ ดาต้าเบส

ยังต้องลุ้นกันอย่างระทึกสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะรับโหวตหนี้โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วง “แบริ่ง-สมุทรปราการ” และ “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” หรือไม่ ในห้วงเวลาที่เหลือการประชุมอีก 2 นัด คือ วันที่ 23 พ.ค.และวันที่ 30 พ.ค. 2561 ซึ่งกระทรวงคมนาคมยื่นเดดไลน์ให้ “กทม.” รีบเคลียร์ปัญหาภายในบ้านให้จบในเดือน พ.ค.นี้

ถ้าหลุดจากนี้ทาง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เตรียมแผนสำรองจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อเข็นรถไฟฟ้าสายนี้เปิดหวูดภายในเดือน ธ.ค.นี้

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอ้อมกอดของ “กทม.หรือ รฟม.” แต่ชื่อชั้น “บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” หรือบีทีเอสซี ดูมีภาษีเหนือกว่าเอกชนรายอื่น

เนื่องจากกุมสัมปทานพื้นที่ไข่แดงใจกลางเมืองไว้ในมือ ยิ่งรัฐมีนโยบายให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องโดยที่ประชาชนผู้ใช้บริการไม่ต้องลง ยิ่งหนุนส่งให้บีทีเอสกุมชัยไปกว่าครึ่ง

ว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้สภา กทม.ยังไม่ทุบโต๊ะจะรับโหวตหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นเพราะมูลหนี้ที่มีมูลค่าร่วม 111,715 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ซึ่งเกินขีดความสามารถของ กทม.ที่มีรายได้ร่วม 79,047 ล้านบาทจะรับไหว

ที่สำคัญงบประมาณทุกบาททุกสตางค์มีโครงการที่ตั้งงบผูกพันไว้และนำไปใช้ในภารกิจอื่น ๆ ทั้งด้านความสะอาด จราจร แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมาสภา กทม.จะขอรับภาระหนี้แค่งานระบบมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธากว่า 60,000 ล้านบาท ให้ผู้บริหาร กทม.เจรจารัฐรับภาระให้เหมือน รฟม.

สวนทางกับมติที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม. พร้อมจะรับโอนหนี้ทั้งหมด แต่ขอให้รัฐขยายเวลาการชำระคืนหลังปี 2572 เนื่องจากสัมปทานบีทีเอสจะสิ้นสุดลง ซึ่งทรัพย์สินและรายได้ค่าโดยสารทั้งหมดจะเป็นของ กทม.ทั้งหมด จะสามารถมีรายได้มาชำระหนี้คืนให้กับรัฐบาลได้ รวมถึงขอให้รัฐจัดเงินอุดหนุนให้ กทม.จากการดำเนินงานในระยะเวลานับจากวันที่ 10 มิ.ย. 2558 จนถึงวันที่ 5 ธ.ค. 2572 โดย กทม.ประเมินว่าจะมีผลขาดทุนในช่วง 10 ปีแรก ประมาณ 21,134 ล้านบาท

ขณะเดียวกันทางกระทรวงการคลังโยนโจทย์ให้ กทม.เจรจาบีทีเอสเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ในส่วนงานระบบ ที่จะต้องจ่ายในปี 2563

ความคืบหน้าล่าสุด “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. หัวหน้าคณะเจรจากับบีทีเอส กล่าวว่า รอสภา กทม.พิจารณาอนุมัติร่างข้อบัญญัติรับโอนหนี้ แต่ด้วยวงเงินหนี้สูง และ กทม.ไม่มีงบประมาณพอ มีแนวคิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานส่วนต่อขยายและรับภาระหนี้ทั้งหมด วิธีนี้จะทำให้ กทม.ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย ขณะที่เอกชนจะมีรายได้จากค่าโดยสารไปชำระหนี้คืนรัฐได้


นอกจากนี้ กทม.มีแนวคิดจะจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งโครงข่ายเก่าและส่วนต่อขยายใหม่ที่จะรับโอนโครงการจาก รฟม.ตามระยะทาง จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว คิดอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย เพราะเมื่อเปิดใช้บริการส่วนต่อขยายใหม่ระยะทางจะเพิ่มขึ้นเป็น 67 กม. และมี 55 สถานี จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนถูกลง เพราะหากเก็บตามปัจจุบันจะเสียค่าแรกเข้าหลายต่อ เมื่อใช้ทั้งโครงข่ายค่าโดยสารจะอยู่ที่ 146 บาท แต่หากรวมเป็นเส้นทางเดียวกัน ทำให้ค่าโดยสารถูกลง และจูงใจให้คนมาใช้