CEO อนันดา “ชานนท์ เรืองกฤตยา” โหมโรง SingularityU Summit 2018 ฟังกูรูซิลิคอนวัลเลย์พูดบนเวทีในเมืองไทย

สัมภาษณ์พิเศษ

19-20 มิถุนายน 2561 กำหนดจัดสัมมนาระดับโลกเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และเป็นครั้งแรกในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ชื่องาน “SingularityUThailand Summit 2018” ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมีโต้โผคือ “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมกับพันธมิตรหลากวงการ เพราะเป็นบิ๊กอีเวนต์ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 60 ล้านบาท

คณะทำงานจัดงานมีเป้าหมายต้องการจัดขึ้นทุกปีเพื่อเติมไอเดียคนไทยเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน เป็นการเตรียมประเทศไทยให้รู้เท่าทันและปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคตได้ตั้งแต่วันนี้

Q : ที่มาที่ไปงานสัมมนาครั้งนี้

Singularity University หรือ SU เป็นศูนย์รวมกลุ่มนักคิดและผู้นำด้านนวัตกรรมจากซิลิคอนวัลเลย์ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญในการรับมือกับความท้าทายระดับโลกต่าง ๆ ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด

บทบาท SU นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2551 ทำหน้าที่เป็นพื้นฐานของชุมชนนวัตกรรมระดับโลกอย่างต่อเนื่อง งานสัมมนา SingularityU จึงเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและวิธีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม เป็นเวทีรวบรวมบรรดาผู้นำและผู้เชี่ยวชาญแถวหน้ามารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด และการลงมือทำ

ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับฟังการพูดคุยประเด็นต่าง ๆ เช่น อนาคตปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelligence) อนาคตวงการแพทย์ยุคดิจิทัล อนาคตอุตสาหกรรมพลังงาน อนาคตอุตสาหกรรมการเงินและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลก

สิ่งเร่งด่วนคือการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคเพื่อใช้ประโยชน์จากไทยแลนด์ 4.0 จุดมุ่งหมายของเราคือการเห็นภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ และคาดหวังด้วยว่างานสัมมนาเป็นตัวจุดประกายให้เกิดโครงการนำร่องใหม่ ๆ

ทั้งนี้ พันธมิตรที่ร่วมผลักดันแจ้งเกิดงานสัมมนา อาทิ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ธนาคารไทยพาณิชย์, ดีลอยท์ฯ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), ตลาดหลักทรัพย์ฯ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, Startup Thailand และองค์กร Young Presidents” Organization (YPO) ประจำประเทศไทย

Q : วิทยากรมีใครบ้าง

ผมยกตัวอย่าง อาทิ เดวิด โรเบิร์ตส์ รองประธาน SU, จอห์น เฮเกิล ประธานร่วม World Economic Forum”s Global Future Council on the Future of Platforms and Systems และประธานร่วม Deloitte Center for the Edge, แดเนียล คราฟต์ ประธาน Singularity University”s Exponential Medicine และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำ Stanford และ Harvard

นอกจากนี้มีวิเวียน หมิง นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี และผู้ร่วมก่อตั้ง Socos บริษัทที่รวบรวมเทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิ่งประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive neuroscience) และระบบเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ทั้งในด้านการศึกษาและการทำงาน

ยังมีราเมซ นาม นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักอนาคตศาสตร์ นักลงทุน Angel Investor, แมนดี้ ซิมป์สัน ซีอีโอบริษัทที่ปรึกษา Cyber Toa, แธเนียล คาลฮูน กรรมการผู้จัดการใหญ่ SU Global Solutions Program (GSP) และรองประธาน Global Grand Challenges

Q : แรงบันดาลใจที่อยากจัดงาน

SU ผมเรียนมา 20 ปีแล้ว ในบริษัทก็พาผู้บริหารไปเรียนและได้ประโยชน์พอสมควร เป็นอะไรที่สำคัญที่คนไทยควรได้เรียนรู้แล้ว ผมขอบอร์ดทำ SU 15 ล้านบาท บอร์ดถามว่างานนี้บัดเจต 60 ล้านมีแต่รายจ่ายแล้วมีรายได้ยังไง ผมบอกจะไปขอสปอนเซอร์ซึ่งไม่เคยทำ

โซนเอเชียเหนือคือญี่ปุ่นจัดไปแล้ว เราจัดเป็นรายแรกใน SEA ตั๋วใบละ 55,000 บาท ปีหน้าที่จัดคิดว่าไม่ขายแล้ว เราจะสปอยอินให้ผู้นำระดับประเทศ ผู้บริหารในรัฐบาล ซึ่งแบงก์ไทยพาณิชย์ก็มีคณะบอร์ดมาฟัง

จุดหนึ่งของ SU ที่จะพูดถึงคือทำนายวิวัฒนาการของอนาคต ภายในปี 2045 คอมพิวเตอร์ถึงจุด singularity จะฉลาดกว่ามนุษย์ คือจุดที่ความคิดมนุษย์ไม่มีความหมายแล้ว

ถามตัวเอง รุ่นลูกผม คนเล็กอายุไม่ถึงปีเมื่อถึงตอนนั้นเขาจะอายุ 25 ปี ถามว่าเขาต้องเรียนอะไรในเมื่อมีชิปฝังในตัวเขาแล้ว สมองเรากับเน็ต ความรู้ของมนุษย์สะสมทั้งประวัติศาสตร์จะอยู่ในสมองเราตลอดเวลา การคูณกันต้องท่องจำสูตรคูณไหม การพิมพ์ข้อความพูดใส่กูเกิลเข้าไป ในอนาคตแค่นึกอะไรไม่ต้องพูดก็จะพิมพ์ออกมา scifi มากเลย

ผมเรียน SU 3 ปีที่แล้ว ซิตี้แบงก์ส่งซีเอฟโอไม่ต้องเรียนเรื่องตัวเลขแล้วให้มาเรียนที่ซิลิคอนวัลเลย์ เขาพูดว่านายส่งให้มาดูว่าซิตี้แบงก์จะเจ๊งเมื่อไหร่ จริงเหรอ เป็นไปได้ไง (เน้นเสียง)

มันสะสมความ spark ในใจของผมเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผมจะเรียนอะไร จะเรียนกับคนฉลาดที่สุดในโลก ทำอะไรทำให้สุดนี่คือนิสัยผม ไปเจออย่างนี้ SU ที่สุด

Q : ปรับใช้กับอสังหาฯยังไง

(ทวนคำถาม) เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ยังไง…มนุษย์ต้องขยายพันธุ์หรือไม่ถ้าเราไม่ตายแล้ว ในเอเชียญี่ปุ่นแก่มากที่สุด เผ่าพันธุ์ไทยเป็นอันดับ 2 ถ้าอสังหาฯ คนเราไม่ต้องตายแล้ว ดีมานด์จะมีเหรอ ก็น่าคิดตลอดเวลา

ในยุคที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน SU เรียกว่า perfect capitalization ซัพพลายสมดุลกับดีมานด์ มองแบบจินตนาการ อสังหาฯในกรุงเทพฯที่ใช้งานแบบเป็นและไม่เป็นประโยชน์อยู่ตรงไหน ผมว่าเราสร้างเยอะ แต่ของทิ้งขว้างก็เยอะ

คนที่สร้างแต่ไม่ได้ใช้แต่เป็นเจ้าของน่ะมี จะเป็นที่ดินร้าง ห้องชุดร้าง ยุคของ exponential จะเกิดขึ้นแล้ว

ข้อมูลทุกอย่างต้องฟรี ข้อมูลกรมที่ดินใครโอนที่ไหนยังไงทุกคนต้องเห็นหมดแล้ว การระดมทุนก็เปลี่ยนไป ในอนาคตผมว่าดีเวลอปเปอร์อาจไร้ประโยชน์ โดย crownd funding

ตอนนี้ผมนั่งอยู่ในบอร์ดดิจิทัลเวนเจอร์ของ ธ.ไทยพาณิชย์ ก็เถียงกันใหญ่ อย่างลาซาด้า ช้อปปี้ เอามาดู จำไม่ได้คอสต์เท่าไหร่ แต่ทุกทรานแซ็กชั่นขาดทุน 10 บาท

แต่ต้องการมาร์เก็ตแชร์ ยอมขาดทุน และบอกว่า “ไม่อั้น” ในซัพพลายเชนทุกฟีดบอกว่ายอมขาดทุน 10% เพื่อมาร์เก็ตติ้ง เพื่อมาร์เก็ตแชร์ และได้ข้อมูลภายใน 4 เดือนสินค้านั้นถูกลงอีก 10% แต่ไม่ได้ผลิตโดยคนไทยแต่โดยคนจีน เส้นทางสายไหมไปยุโรป เก็บข้อมูลโลกแล้วให้คนจีนผลิต ทำโลจิสติกส์ให้ดีก็ครองโลก อ่านเกมให้ออก ภายใน 5 ปี ผมว่าผู้ผลิตกับคนไทยจะเดดสะมอเร่โดยไม่รู้ตัว นี่คือยกตัวอย่าง

Q : แนวทางปรับกลยุทธ์ลงทุน

ผลกระทบอสังหาฯ แค่มีไลน์แมนมาส่งอาหาร มีไลน์ แกร็บ อสังหาฯ จะทำยังไง กฎหมายบ้านเราทำคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าต้องทำที่จอดรถ เจอแบบนี้จะทำยังไง ใช้ไลน์แมน ใช้หุ่นยนต์ส่งของ ราคาลดลง 20% เพราะไม่ต้องทำที่จอดรถ

ผมจะลงทุนธุรกิจเซอร์วิสมากขึ้น เพราะในอนาคตโรงแรมต้องการคนมาทำความสะอาด ต้องมีบุคคลที่สามที่ดูแล ทันใจ และได้มาตรฐานยังไง เหมือนเรามีรถยนต์ วันหนึ่งใช้รถยังไง แนวคิดคือทรัพยากรที่ใช้แล้วจอดเฉย ๆ จอดทิ้ง เหมือนเงินที่เราใช้แล้วจมในชีวิต สิ่งที่มองคืออสังหาฯ ในโลกมีเยอะเกินไปแล้ว ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการแชร์อสังหาฯ ที่เรียกว่า sharing economy

Q : ตลาดกลางล่างโดนด้วยไหม

มองว่าโดนทุกเซ็กเมนต์ ประชากรเราไม่ได้ขยายตัวขนาดนั้น แต่สมการนี้มีข้อบวกอันหนึ่ง กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มอง 10-20 ปีเป็นคอสโมโพลิแทน เป็นสากล เราเป็นเมืองท่องเที่ยวท็อป 3 ของโลก

เวลาคุยกับพี่แอ๊ว (ศุภลักษณ์ อัมพุช กลุ่มเดอะมอลล์) มองเป็น playground of Asia มองชะอำ หัวหินเป็นหาดทั้งหมด ถ้ามีไฮสปีดเทรนไปถึงเราต้องกล้ามองในระดับนโยบาย มองเมืองเราในระดับเอเชียอยู่ตรงไหน ถ้ากล้ามองอย่างนั้น ปัจจัยเปลี่ยนแน่นอน เราเป็นห่วงที่ดินคนไทยโดนฝรั่งแย่งไปหรือเปล่า ต้องมองระดับสังคมและเราต้องมีจุดยืนในระดับเอเชีย ระดับโกลบอล

Q : บทบาทภาครัฐ

ใน SU มีเซ็กชั่นที่ให้หน่วยงานรัฐเข้ามา ผมจะเดินสายชวนผู้หลักผู้ใหญ่ให้เข้ามาแจม เพราะพูดอะไรก็ตาม ถ้าภาครัฐตามไม่ทันก็ไร้ประโยชน์ สิ่งที่ได้ยินมา ธ.ไทยพาณิชย์ลงทุนเกี่ยวกับบล็อกเชน แต่ไม่สามารถถือหุ้นเกิน 10% ได้ ผมว่าสิ่งที่เขาทำล้ำมากนะ และเวิลด์คลาสได้ แต่กลายเป็นว่าทำไปแล้วตัวเองถือหุ้นได้แค่ 10%

ตอนนี้ได้รับโจทย์จากบอร์ดคิดสตรักเจอร์ยังไง กลายเป็นว่าเทคโนโลยีนี้อาจต้องไปทำไลเซนส์ที่อื่น อาจต้องไปที่สิงคโปร์เพราะทันสมัยกว่าไทย