
เสวนากรีนแอ็กชั่นเวทีล่าสุด หัวข้อว่าด้วย “Net Zero Design”
เจ้าภาพโดยค่ายสีเบเยอร์ ตั้งเป้าแบบ Think Big สร้างการมีส่วนร่วมในการยกระดับอาคารไทยสู่ “Green Building” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาคาร ที่สอดคล้องกับแผนทิศทางของเป้าหมายของประเทศไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำเร็จด้วยซัพพลายเชนธุรกิจ
โดย “ดร.วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ ระบุว่า ตลอดช่วง 6 ทศวรรษสีเบเยอร์ ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์คุณภาพสี ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคและสอดคล้องต่อทิศทางของเทรนด์โลก
ทั้งในมิติของการใส่ใจสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบแนวคิด “Eco-Wellness Innovation”
ถัดมา “ดร.จักรกฤษณ์ เหลืองเจริญรัตน์” กรรมการบริหาร บริษัท เก็นสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด การสร้าง Green Building กลายเป็นเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Green Building จะสำเร็จได้ต้องพัฒนาร่วมกันในทุกห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจ นับเป็นความท้าทายของการปรับตัวในการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจร่วมกัน
“ที่ผ่านมา เก็นสเล่อร์ได้ร่วมงานกับพันธมิตรที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเบเยอร์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง Green Building ให้เกิดขึ้นในไทยร่วมกัน”
ปลูกฝัง-มีส่วนร่วมกับผู้ใช้อาคาร
ด้าน “อมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์” ผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียวและที่ปรึกษาโครงการ Green Building Market Transformation กล่าวว่า Green Building กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เทรนด์อีกต่อไป โดยทุกวันนี้มีเรื่องของกฎหมายเข้ามากำกับแบบเข้มข้น เนื่องจากอาคารและการก่อสร้างถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โจทย์สำคัญในวันนี้ไม่ใช่แค่เร่งพัฒนาอาคารให้กลายเป็นอาคารรักษ์โลกด้วยการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องเร่งปลูกฝังให้ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ใช้อาคารต่าง ๆ มีแนวคิด พฤติกรรม ในการพัฒนาอาคารเขียวร่วมกัน จึงจะสามารถเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
และ “ผศ.ดร.สรรพวัฒน์ จตุพัฒน์วรางกูร” Digital Practice Leader บริษัท Aurecon Thailand กล่าวว่า วันนี้อาคารเขียวไม่ใช่เรื่องใหม่ จุดสำคัญคือสุขภาวะพื้นฐานของงานออกแบบ และเป็นโจทย์สำคัญในการเติมเต็มเพื่อการอยู่อาศัย
สำหรับมิติสิ่งแวดล้อม งานออกแบบได้หากรอบมาสร้างแบบแผนในการดำเนินการ เพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐานระดับสากล อาทิ มีการอยู่อาศัยที่ดี ลดการใช้พลังงานได้ แต่งานออกแบบไม่สามารถบรรลุผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ ต้องอาศัยทั้งองคาพยพในห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจขับเคลื่อนร่วมกัน
เบเยอร์ติดสปีดธุรกิจสีเขียว
ปิดท้ายด้วย “ดร.วรวัฒน์” กล่าวเสริมว่า เบเยอร์มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ ภาคการผลิต การจัดส่ง และหลังใช้ผลิตภัณฑ์ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีเซรามิกคูลลิ่ง ช่วยสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์ 97.2% การไม่ปล่อยสาร VOCs ซึ่งเป็นสารที่สามารถทำปฏิกิริยากับแสงแดดกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
เบเยอร์ยังมุ่งมั่นสร้างต้นแบบอาคารรักษ์โลก โดยลดการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิต ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้านบนอาคาร, มีการนำสารประกอบจากพืช (Biobase) มาใช้ทดแทนวัตถุดิบปิโตรเลียมเพื่อลดมลพิษ
ทำให้สีเบเยอร์ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 336,600,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้โตเต็มวัย 5,500,000 ต้น
ถือเป็นการขับเคลื่อนพันธกิจของเบเยอร์ สู่การเป็นอาคารสีเขียวและธุรกิจสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ