ลุ้นโอนห้องชุด “แอชตันอโศก” กก.อุทธรณ์เบิกทางเซ็น “อ.6”

คืบหน้า “แอชตัน อโศก” คอนโดฯสร้างเสร็จ-โอนไม่ได้ อธิบดีโยธาฯเผยกรรมการอุทธรณ์ให้ยึดกฎหมายควบคุมอาคารเป็นหลัก ถ้าถูกต้องควรออก “อ.6-ใบเปิดใช้อาคาร” พันธมิตร “มิตซุย ฟุโดซัง”ลงบัญชีสำรองหนี้ 100 ล้านเหรียญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปรากฏการณ์คอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จแต่โอนห้องชุดไม่ได้ ในโครงการแอชตัน อโศก ของกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์เนื่องจากติดขั้นตอนการยื่นขอออกเอกสาร อ.6 (ใบตรวจสอบอาคาร) หรือใบขอเปิดใช้อาคาร โดยเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น

ในทีนี้ แอชตัน อโศก ทำเลตั้งอยู่ต้นถนนอโศกกับสุขุมวิท จึงอยู่ในการพิจารณาอนุญาตของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ล่าสุดได้มีการยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการอุทธรณ์ และได้มีมติให้ดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

กก.อุทธรณ์ให้ออกใบ อ.6

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากบริษัท อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสืออุทธรณ์มายังกรมโยธาธิการ

และผังเมือง ถึงคำสั่งมิชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีที่โครงการคอนโดฯ แอชตัน อโศก สร้างเสร็จเรียบร้อยแแล้ว แต่ทาง กทม.ยังไม่ออกใบอนุญาต “อ.6” เพื่อรับรองการก่อสร้างและอนุญาตให้เปิดใช้อาคาร เนื่องจากยังมีคดีฟ้องร้องกันที่ศาลปกครอง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ได้พิจารณาแล้ว และมีมติให้ กทม.เพิกถอนคำสั่ง และให้ดำเนินการพิจารณาออกเอกสาร “อ.6” ถ้าหากโครงการดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ถ้าหากยังทำไม่ครบถ้วนก็ให้ผู้ประกอบการโครงการดำเนินการให้ครบแล้วถึงจะออกใบ “อ.6” ให้

“คณะกรรมการอุทธรณ์มองว่า เมื่อ กทม.อนุญาตให้บริษัทก่อสร้างโครงการแล้ว ถ้าบริษัททำถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารก็สมควรพิจารณาออกใบ อ.6 ให้ ส่วนโครงการแอชตัน อโศก ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องคดีกับศาลปกครองนั้นต้องพิจารณาแยกกัน คดีฟ้องร้องที่ศาลปกครองต้องให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ในขณะที่ใบ อ.6 เป็นการพิจารณาตามกฎหมายควบคุมอาคาร อำนาจหน้าที่แยกกันชัดเจนอยู่แล้ว” นายมณฑลกล่าว

กทม.รอหนังสือแจ้งมติ

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กทม.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เรื่องเดียวกันนี้ว่า ขอดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์อย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นถึงจะดำเนินการตามมติ ถ้าหากคณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ กทม.เพิกถอนคำสั่ง ก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่า คำสั่งมิชอบด้วยเหตุผลอะไร จากนั้นจึงจะดำเนินการตามนั้น เช่น ต้องออกคำสั่งใหม่หรือไม่ ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายกำหนดแนวทางปฏิบัติในการออกเอกสาร อ.6 ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ กทม.ได้รับหนังสือยืนยันมติจากคณะกรรมการอุทธรณ์

โดยก่อนหน้านี้ กทม.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์ว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถออกใบอนุญาต อ.6 เนื่องจากมีการฟ้องร้องที่ศาลปกครอง กรณีแอชตัน อโศก มีการเช่าที่จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทำเป็นทางเข้า-ออกโครงการ

ส่วนการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุดทางบริษัทได้ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เช่น ชนิดของต้นไม้ที่ไม่ตรงกับการขออนุญาตก่อสร้างโครงการ เป็นต้น

ลูกค้ายกเลิกห้องชุด 20%

แหล่งข่าวจากบมจ. อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ กล่าวว่า ตามสัญญาซื้อขายห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก ระบุว่าบริษัทต้องส่งมอบห้องชุดภายในวันที่ 26 มีนาคม 2561 โดยบริษัททำการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด แต่สะดุดขั้นตอนการขอเอกสาร อ.6 ทำได้ล่าช้า ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ได้เกิดจากบริษัท ดังนั้นในสัญญาซื้อขายสามารถยืดเวลาส่งมอบได้อีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ห้องชุดแอชตัน อโศก เปิดขายในปี 2558 ออกแบบเป็นคอนโดฯไฮไรส์สูง 50 ชั้น บนที่ดิน 2 ไร่เศษ ติดสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสุขุมวิท (อโศก) สามารถปิดการขายทั้งโครงการจำนวน 766 ยูนิต ได้ภายใน 1 เดือน ราคาเริ่มต้นตารางเมตรละ 2.2 แสนบาท มูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท ในขณะที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถส่งมอบห้องชุดให้กับลูกค้าได้ ทำให้มีลูกค้าบางส่วนได้รับผลกระทบ บริษัทจึงมีมาตรการเยียวยา ดังนี้

1.ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายห้องชุดจากโครงการแอชตัน อโศก เป็นสัญญาซื้อขายห้องชุดในโครงการอื่นของอนันดาฯ ซึ่งสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ มีให้เลือก 5 โครงการ ได้แก่ แอชตัน สุขุมวิท 41, แอชตัน สีลม, แอชตัน จุฬา-สีลม, ไอดิโอ คิว สยาม-ราชเทวี และคิว ชิดลม-เพชรบุรี โดยให้สิทธิ์การตัดสินใจถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

2.กรณีต้องการขอคืนเงินดาวน์ ทางอนันดาฯคืนเป็นเงินสด บวกอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตามระยะเวลาที่ผ่อนงวดเงินดาวน์ (ระหว่างปี 2558-พฤษภาคม 2561)

ทั้งสองกรณีพบว่ามีลูกค้าขอยกเลิกสัญญาซื้อขายห้องชุดสัดส่วน 20% โดยห้องชุดที่นำกลับมาขายใหม่มีส่วนต่างราคา เพราะปัจจุบันราคาตลาดเริ่มต้นตารางเมตรละ 2.6-2.7 แสนบาท ในขณะที่ชั้น 47-50 มีการขายใบจองในราคาตารางเมตรละ 3-3.5 แสนบาท

ญี่ปุ่นบุ๊กหนี้ 100 ล้านเหรียญ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีข้อพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นห้องชุด แอชตัน อโศก เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มอนันดาฯ กับกลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น โดยมิตซุย ฟุโดซัง เข้ามาร่วมทุนพัฒนาคอนโดฯในตลาดเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2556

ปัจจุบันมีโครงการร่วมทุนแล้ว 21 โครงการ มูลค่ารวม 95,000 ล้านบาท แผนลงทุนเพิ่มในปีนี้มีอีก 6 โครงการ มูลค่า 19,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าภายในสิ้นปี 2561 นี้ เพิ่มเป็น 114,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มร่วมทุน หรือจอยต์เวนเจอร์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงการ

สำหรับโครงการแอชตัน อโศก ตามแผนธุรกิจตามสัญญาซื้อขายมีกำหนดส่งมอบห้องชุดภายใน 26 มีนาคม 2561 แต่ไม่สามารถทำตามกำหนดได้ ในทางปฏิบัติ มิตซุย ฟุโดซัง ได้รายงานสถานะการดำเนินธุรกิจไปยังบริษัทแม่ โดยระบุตัวเลขทางบัญชีจากเดิมเป็นรายรับ มีการปรับเปลี่ยนเป็นรายการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

คลิกอ่าน เหตุเกิดที่ แอชตัน อโศก อุบัติการณ์ใหม่ เอกสาร อ.6 คอนโดสร้างเสร็จแต่โอนไม่ได้ ?