TOR ไฮสปีดเอื้อต่างชาติ เข้าทาง”ซีพี-จีน-ญี่ปุ่น”

แฟ้มภาพ

ชำแหละทีโออาร์ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ขาใหญ่ทุนไทยหวั่นเข้าทางทุนต่างชาติฮุบเค้ก 2.2 แสนล้าน เปิดทางถือหุ้น 75% ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจต่างประเทศชาติเดียวกันยื่นแข่งได้เกิน 2 ราย ด้านบีทีเอสโวยล็อกสเป็กงานระบบ ต้นทุนพุ่ง 10-25% อ้างผลงาน 18 ปีไร้ประโยชน์ จับตาเข้าทางกลุ่ม ซี.พี.-จีน-ญี่ปุ่น แห่ร้องสมาคมรับเหมา อีอีซีดันโมเดลใหม่ลงทุน 3 ชาติปลุกเศรษฐกิจภาคตะวันออก

รายงานข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทีโออาร์ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost สัมปทาน 50 ปี หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประกาศทีโออาร์เชิญชวนวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา

ชี้ทีโออาร์เอื้อต่างชาติ

“ดูแล้วทีโออาร์เอื้อให้ต่างชาติมากกว่าบริษัทไทย เข้าใจว่าเป็นโครงการแรกและขนาดใหญ่ที่ไทยใช้เงินลงทุนสูง กว่าจะมีกำไรใช้เวลากว่า 10 ปี รัฐจึงอยากให้เกิดการแข่งขัน โดยเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมาก ๆ แต่อยากให้มองศักยภาพผู้ประกอบไทยด้วย”

โดยเฉพาะคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ มีหลายจุดที่กังขา เช่น กรณีนิติบุคคลรวมกันเป็นกิจการร่วมค้า ต้องมีผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 รายถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่า 25% ของทั้งหมด ขณะที่สมาชิกแต่ละรายต้องมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 5% และต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เท่ากับว่าหากมีผู้ประกอบการไทยร่วมกับต่างชาติแค่ 2 ราย ไทยถือหุ้น 25% แสดงว่าอีก 75% เป็นต่างชาติได้

เปิดทางรัฐวิสาหกิจจีน

อีกประเด็นเรื่องยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจต่างประเทศ ที่เป็นของรัฐบาลประเทศเดียวกันเข้าร่วมได้เกิน 1 ราย ขณะที่ในทีโออาร์ไม่ได้ระบุถึงรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยเลย เช่น บมจ.ปตท. และราชบุรีโฮลดิ้ง ถ้า 2 รายนี้แยกประมูลถูกปัดตกได้ เนื่องจากเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นหรือฮั้วกันได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นพันธมิตรไม่สามารถเข้าร่วมได้

และในประกาศเงื่อนไขการร่วมลงทุนของอีอีซีระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่การคัดเลือกมีหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศเดียวกันเป็นเจ้าของ ตั้งแต่สองรายขึ้นไป เป็นผู้ยื่นข้อเสนอโดยไม่มีเอกชนรายอื่นยื่นแข่ง หากคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็อาจรับข้อเสนอของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศเดียวกันเป็นเจ้าของได้

“เท่ากับเปิดทางให้จีนเข้ามา เพราะบริษัทเดินรถไฟความเร็วสูง มีแต่จีนที่รัฐบาลถึอหุ้น 100% ส่วนญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป จะดำเนินการโดยบริษัทเอกชน”

โดยกำหนดมูลค่าของกิจการ หากเป็นนิติบุคคลรายเดียวเฉลี่ย 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท หากเป็นกิจการร่วมค้าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท รวมกันไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งในทีโออาร์ไม่ได้ระบุว่าเป็นกิจการประเภทไหน

ส่วนประสบการณ์เป็นประเด็นที่อาจทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งทีโออาร์ในส่วนงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้า ระบุต้องมีประสบการณ์ด้านการบูรณาการงานระบบของรถไฟความเร็วสูง ประกอบด้วยงานอาณัติสัญญาณ โทรคมนาคม ไฟฟ้า วางราง และศูนย์ซ่อมบำรุง ทุกระบบรวมกันมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และแล้วเสร็จไม่เกิน 20 ปี และระยะเวลาการก่อสร้าง 5 ปี เมื่อเทียบกับระยะทาง 220 กม. ถือว่าน้อยเกินไป

บีบผู้เดินรถไทยผนึกต่างชาติ

แหล่งข่าวจาก บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า หลังมีประกาศทีโออาร์ กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ได้ประชุมหารือมีข้อกังวล เช่น ให้บริษัทไทยถือหุ้น 25% แต่ให้รัฐวิสาหกิจต่างประเทศ ชาติเดียวกันเข้าประมูลได้เกิน 2 ราย เป็นต้น

และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบีทีเอสโดยตรงคือประสบการณ์งานระบบเครื่องกลและไฟฟ้า ระบุต้องมีประสบการณ์ด้านการบูรณาการงานระบบของรถไฟความเร็วสูง ระบุชัดแบบนี้เท่ากับบีทีเอสก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้เอง ต้องจับมือกับต่างชาติหรือจ้างต่างชาติมาดำเนินการซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 10-25% หรือ 4,000-5,000 ล้านบาทจากมูลค่าระบบ 50,000 ล้านบาท

“เท่ากับประสบการณ์บูรณาการรถไฟฟ้ากว่า 18 ปีของบีทีเอสไม่มีประโยชน์ตรงนี้เลย จริง ๆ ทีโออาร์ไม่ต้องกำหนดว่าเป็นรถไฟความเร็วสูง เพราะเมื่อบริษัทที่ประมูลได้จะจัดหาภายหลังได้ กำหนดแบบนี้เท่ากับต้องพึ่งต่างชาติ จะทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องอื่น ๆ เช่น ระบบ ขบวนรถ”

จับตาเข้าทาง ซี.พี.-จีน-ญี่ปุ่น

แหล่งข่าวระบุว่า เป็นที่จับตาว่าทีโออาร์อาจเข้าทางบางกลุ่มที่สนใจรถไฟความเร็วสูงสายนี้ตั้งแต่แรก คือ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ซึ่งมีทั้งพันธมิตรจากจีนและญี่ปุ่นอยู่ในมือที่จะร่วมลงทุน และบริษัทในเครือที่มีประสบการณ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้ง ซี.พี.แลนด์ถนัดด้านโรงแรม ที่อยู่อาศัย มีที่ดินรอพัฒนาในพื้นที่อีอีซีจำนวนมาก และมี MQDC ทำโครงการมิกซ์ยูสไอคอนสยาม ซึ่งทีโออาร์รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินให้สิทธิเอกชนพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ มีพื้นที่อาคารไม่น้อยกว่า 850,000 ตร.ม. ลงทุนไม่น้อยกว่า 42,000 ล้านบาท และสถานีศรีราชา 25 ไร่ มีพื้นที่อาคารไม่น้อยกว่า 20,000 ตร.ม. มูลค่าลงทุนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท เพื่อต่อยอดโครงการ ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ถ้าลงทุนรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียวกว่าจะคืนทุนใช้เวลานับ 10 ปี

“ซี.พี.เคยร่วมกับซิติก คอนสตรัคชั่น บริษัทก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุน และ บจ.ไหหนานกรุ๊ป ที่เชี่ยวชาญงานก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ ศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง และเมื่อปี 2558ร่วมกับอิโตชู จากญี่ปุ่น ซื้อหุ้น 20% ในซิติก ของจีน”

ขณะที่บีทีเอสจะร่วมกับซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้ง รวมถึงกำลังเจรจาร่วมกับ ปตท. ซึ่งบีทีเอสมีประสบการณ์ด้านรถไฟฟ้ามากว่า 18 ปี และมีธุรกิจอสังหาฯในเครือ บมจ.ยูซิตี้ รวมถึงพันธมิตรจาก บมจ.แสนสิริ ที่พัฒนาคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งแสนสิริมีโปรเจ็กต์ร่วมทุนกับบริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น รับเหมาก่อสร้าง ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากญี่ปุ่น ก็มีความเป็นไปได้อาจร่วมกันก็ได้ ล่าสุดโตคิวสนใจลงทุนมิกซ์ยูสสถานีมักกะสันและศรีราชา และสมาร์ทซิตี้ด้วย

“ตอนนี้ยังไม่นิ่ง เพราะทีโออาร์ที่ประกาศออกมาเป็นขอบเขตงานโครงการเพื่อเชิญชวนคนมาซื้อเอกสาร ซึ่งผู้สนใจต้องไปซื้อแบบเอกสารวันที่ 18 มิ.ย. ถึงจะทราบรายละเอียดมากขึ้น”

แห่ร้องสมาคมรับเหมา

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีบริษัทรับเหมารายใหญ่ที่เป็นสมาชิกสมาคมสอบถามมาเรื่องเงื่อนไขในทีโออาร์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

กรณีที่ให้บริษัทไทยถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 25% ส่วนอีก 75% กระจายให้ผู้ร่วมลงทุน โดยถามว่ารัฐกำหนดเงื่อนไขแบบนี้เท่ากับมีเจตนารมณ์ให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้ 75% ใช่หรือไม่ ซึ่งสมาคมจะทำเรื่องสอบถามไปยัง สำนักงานงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว และจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสัดสวนเท่านี้ทั้งอีอีซีเลยหรือไม่

18 มิ.ย.ซื้อซอง-ยื่น 12 พ.ย.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการประมูลแบบนานาชาติ เพื่อเปิดให้บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุนโครงการ ตามกำหนดจะเปิดให้ซื้อเอกสารวันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค.นี้ จะจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดและข้อเสนอแนะวันที่ 23 ก.ค. และ24 ก.ย. จัดให้ดูพื้นที่ก่อสร้างโครงการวันที่ 24 ก.ค. และยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย. 2561 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือรายที่ให้รัฐสนับสนุนค่างานโยธาน้อยที่สุด ไม่เกินจากมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินไว้ 119,425 ล้านบาท

ดึงจีน-ญี่ปุ่นแท็กทีมลงทุนไทย

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ล่าสุดจีนและญี่ปุ่นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีน-ญี่ปุ่น เพื่อลงทุนในประเทศที่ 3 นับเป็นรูปแบบการลงทุนที่ 2 ประเทศใหญ่ที่มีจุดแข็งคนละด้านจับมือกันแท็กทีมมาลงทุนในอาเซียน พุ่งเป้ามาไทยเป็นประเทศแรกใน EEC ทั้งการวิจัยพัฒนา อย่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

ขณะที่นายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอทำแผนงานความร่วมมือการลงทุน 3 ประเทศร่วมกันภายใต้กฎหมายสากล และแนวทางการช่วยเหลือนักลงทุน ส่วนนายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ระบุว่านักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 600 บริษัท ที่เดินทางลงพื้นที่ EEC ช่วงปลายปีที่ผ่านมายังสนใจขยายลงทุนในไทย

กนอ.กระตุ้นลงทุน

ด้านนางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า มีนิคมในพื้นที่ EEC ที่พัฒนาพร้อมขายขณะนี้ 12,000 ไร่ เป้าหมายปี 2560-2564 จะทำยอดขายให้ได้ 15,000 ไร่ มียอดจองแล้วกว่า 50% น่าจะเพิ่มยอดขายได้ถึง 20,000 ไร่ และเปิดพื้นที่ใหม่อีก 3 แห่ง คือ นิคมสมาร์ทพาร์ค (มาบตาพุด) จ.ระยอง 1,200 ไร่ และร่วมกับเอกชน นิคมอุตสาหกรรมซีพี จ.ชลบุรี 3,000 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ (หนองใหญ่ และแหลมฉบัง) จ.ชลบุรี 2,000 ไร่ และ 843.41 ไร่ตามลำดับ

นายชัยพล พรพิบูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตฯทั้งหมด 6 แห่ง คือ พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชลบุรี (แหลมฉบังและบ่อวิน) ระยอง (ปลวกแดงและบ้านค่าย) ล่าสุดได้ร่วมดำเนินงานกับ กนอ. 843.41 ไร่ จะขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษใน EEC และเตรียมลงทุนอีก 3,000 ล้านบาท