จากโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส “ชิบูย่า” “โตคิว” ลุ้นตีตั๋วอีอีซีลุย “มักกะสัน-ศรีราชา”

ท่ามกลางการเปิดโต๊ะแถลงข่าวโปรเจ็กต์ร่วมทุน “แสนสิริ-โตคิว” ที่ขนทัพนักข่าวจากประเทศไทยไปร่วมงานใหญ่แห่งปีที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากแผนงานโครงการพัฒนาคอนโดมิเนียมจะลงขันกันกว่า 5,000 ล้านบาทผุด 2 โครงการใหม่ที่ย่านเอกมัยและสุขุมวิท 50

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ “บิ๊กโตคิว คอร์ปอเรชั่น” ถูกตั้งคำถามนั่นคือแผนการเข้าไปลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้าน ที่รัฐบาลไทยกำลังตีปี๊บเปิดประมูลนานาชาติ

เพราะไม่ใช่แค่นักข่าวไทย แม้แต่นักข่าวจากแดนอาทิตย์อุทัยก็ให้ความสนใจกับเมกะเวิลด์ของไทยแลนด์ที่หลายประเทศกำลังเฝ้าจับตาดู

“โตคิวมีธุรกิจทั้งรถไฟและอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาของรถไฟในขณะนี้ทุกคนมีความคาดหวังจากเรา การขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องรถไฟคิดว่ายาก ต้องเป็นการลงทุนของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องสาธารณูปโภค ที่รัฐต้องรับภาระ เพราะการบริหารรถไฟมีอุปสรรคมาก เราสนใจแค่การก่อสร้าง” เป็นคำตอบแรกจาก นายโตชิยูคิ โฮชิโนะ กรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้จัดการบริหารอาวุโสและผู้จัดการบริหารทั่วไป สำนักงานใหญ่ธุรกิจต่างประเทศ บจ.โตคิว คอร์ปอเรชั่น หลังนักข่าวญี่ปุ่นตั้งคำถาม

แต่หลังจากนักข่าวไทยถามย้ำถึงความสนใจเรื่องการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสสถานีมักกะสันและศรีราชา ที่รวมอยู่ในแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

นายโตชิยูคิกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินอู่ตะเภาเป็นโครงการแรกจะมีการพัฒนาอสังหาฯ แนวเส้นทางด้วยทางโตคิวก็มีความสนใจและกำลังศึกษารายละเอียด

“แต่การเข้าร่วมเป็นรูปแบบ PPP รัฐบาลมีการพูดคุยกันบ้าง แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ใหญ่มาก เรายังไม่มีรายละเอียดพอที่จะบอกได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมลงทุน และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้พัฒนาเพียงรายเดียว ต้องเป็นจอยต์เวนเจอร์หลาย ๆ บริษัท ปัจจุบันเรายังศึกษาข้อมูลอยู่”

ถึงจะยังไม่ฟันธง แต่ “บิ๊กโตคิว” ก็ย้ำว่า จากประสบการณ์ที่พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เช่าที่ศรีราชา คิดว่าการพัฒนาอสังหาฯแนวรถไฟ เช่น สถานีมักกะสัน ศรีราชา ถ้ามีโอกาสก็อยากเข้าไปร่วม ขณะนี้รอข้อมูลจากแสนสิริจะพัฒนาเป็นรูปแบบใด และยังสนใจพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในกรุงเทพฯ และพัฒนาอสังหาฯในพื้นที่อีอีซีร่วมกับแสนสิริและสหพัฒน์

“อยู่ในช่วงศึกษาตลาดเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรืออะไรก็ตาม ในกิจการต่าง ๆ อะไรท้าทายก็ให้ความสนใจ เพราะโตคิวนอกจากจะเป็นบริษัทพัฒนารถไฟ ยังมีธุรกิจอื่น ๆ เช่น อสังหาฯ เซอร์วิส”

สำหรับ “โตคิว” เริ่มต้นจากทำธุรกิจโดยก่อสร้างทางรถไฟสายเมกุโระ-คามาตะ เมื่อปี 2465 ถึงปี 2560 มีบริษัทในเครือ 220 บริษัท มี 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ขนส่งคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ บริการ โรงแรมและรีสอร์ต โดยนำการบริการด้านคมนาคมเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ

ในประเทศไทย มี บจ. โตคิว ดีพาร์ทเม้นท์ สโตร์ ให้บริการห้างโตคิว ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ 2 แห่ง ขณะที่ บจ.โตคิว คอนสตรัคชั่น ร่วมมือกับ บมจ.ช.การช่างก่อตั้ง บจ.ช.การช่าง-โตคิว ดำเนินธุรกิจก่อสร้างถนน และโรงงาน

เมื่อปี 2559 โตคิว คอร์ปอเรชั่นและสหกรุ๊ปร่วมกันก่อตั้งบริษัทร่วมทุน สหโตคิว คอร์ปอเรชัน ขึ้นและได้เข้าบริหารอาคารอพาร์ตเมนต์พร้อมบริการ ในชื่อ “ฮาโมนิค เรสซิเดนซ์ ศรีราชา” เจาะลูกค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในไทย

สำหรับการลงทุนในญี่ปุ่น “โตคิว” ได้ปั้นเมืองใหม่ “ฟูตาโกะ ทามากาวะ” ติดกับสถานีรถไฟฟูตาโกะ-ทามากาวะ บนเนื้อที่ 75 ไร่ พลิกพื้นที่จากเดิมเป็นสวนสาธารณะ พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า สถานีรถโดยสาร ที่อยู่อาศัย และสวนสาธารณะ มีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโปรเจ็กต์มีจุดริเริ่มในปี 2525 กว่าเฟสแรกจะเริ่มสร้างเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน “โตคิว” กำลังพัฒนาโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส มูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บนสถานีรถไฟชิบูย่าและโดยรอบ ประกอบด้วย สำนักงาน และศูนย์การค้า เริ่มพัฒนาเมื่อปี 2556 ทั้งโครงการมีกำหนดจะแล้วเสร็จปี 2563

ส่วนในเมืองไทย “สถานีมักกะสันและสถานีศรีราชา” กำลังเป็นพื้นที่เป้าหมายใหม่ที่ “โตคิว” อยากจะเข้ามาลงทุน