
โรคเครียดกำลังรุมเร้าแมงเม่าตลาดหุ้น หลบมาดูบิ๊กดาต้า 10 บริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่ที่สุดในปี 2567 กันดีกว่า
ล่าสุด “ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA นำเสนอรายงานผลสำรวจจานร้อน ว่าด้วยขนาดการลงทุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ณ สิ้นปี 2567 จำกัดพื้นที่สำรวจเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ของ 10 ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ที่สุด (ดูกราฟิกประกอบ)
โดยพบว่า บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP ซึ่งเปิดตัวโครงการรวม 42 โครงการ จำนวน 8,757 หน่วย มีมูลค่า 47,778 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.456 ล้านบาท โดยเป็น “แชมป์” ทั้งในแง่จำนวนหน่วยและในแง่มูลค่าการพัฒนา นับเป็นเจ้าของสถิติครองแชมป์ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ในโซนไข่แดงเมืองกรุง ซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่เกินครึ่งหนึ่งของตลาดรวมทั่วประเทศ
AP ซิวแชมป์ต่อเนื่องปีที่ 5
เปิดวาร์ปกันด้วยตัวเลขเบา ๆ ในด้าน “จำนวนหน่วย” พบว่า อันดับ 1 ค่ายเอพี (ไทยแลนด์) พัฒนาบ้านและคอนโดมิเนียมใหม่จำนวน 8,757 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 14.2% ของหน่วยขายทั้งหมดที่เปิดในปี 2567 หรือประมาณ 1 ใน 7 ของตลาดรวม ส่วนในแง่มูลค่าโครงการมีจำนวน 47,778 ล้านบาทนั้น ครองสัดส่วนหลักที่ 11.5% หรือคิดเป็น 1 ใน 9 ของมูลค่าโครงการเปิดตัวใหม่ โดยมีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 5.456 ล้านบาท
ถัดมา อันดับ 2 บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดตัวใหม่ 4,811 หน่วย ราคาเฉลี่ย 6.403 ล้านบาท ราคาแอบแพงแม้จะบุกตะลุยอยู่กับการเปิดขายรัว ๆ คอนโดฯ แบรนด์ Nue ทำเลแนวรถไฟฟ้า, อันดับ 3 บมจ.ศุภาลัย ที่สร้างการเติบโตจากโมเดลธุรกิจราคาต่ำกว่าคู่แข่งในทำเลเดียวกัน 10-15% สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เปิดใหม่ 4,661 หน่วย ราคาเฉลี่ย 5.666 ล้านบาท
แสนสิริราคาเฉลี่ย 8.6 ล้าน
อันดับ 4 บมจ.แสนสิริ เปิดใหม่ 3,657 หน่วย ราคาเฉลี่ย 8.663 ล้านบาท อยู่ในเซ็กเมนต์ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ซึ่งก็คือตลาดพรีเมี่ยม-ลักเซอรี่ และอันดับ 5 บมจ.แอสเซทไวส์ หรือ ASW ที่ได้ดิบได้ดีจากการพัฒนาโปรดักต์ครบทั้งแนวราบและแนวสูง กระจายทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ตลาดบน-กลาง-ล่าง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจคล้ายคลึงกับแสนสิริ เปิดใหม่ 2,967 หน่วย ราคาเฉลี่ย 3.699 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงฐานลูกค้าหลักเกาะแน่นอยู่กับตลาดระดับกลาง
อันดับ 6 สถิติเป็นของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่เปิดใหม่ 2,453 หน่วย ดูเหมือนน้อยกว่า แต่ไปเยอะที่ราคาเฉลี่ย 13.189 ล้านบาท, อันดับ 7 บมจ.เจ้าพระยามหานคร หรือ CMC เปิดใหม่ 1,958 หน่วย ราคาเฉลี่ย 2.658 ล้านบาท
อันดับ 8 บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่กำลังทุ่มเทอยู่กับการนำเสนอโมเดลธุรกิจแบบตนเป็นที่พึ่งแห่งตนให้มากที่สุด เพราะแบงก์เข้มงวดปฏิเสธสินเชื่อ ทำให้ต้องสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อช่วยลูกค้าซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ เปิดใหม่ 1,867 หน่วย ราคาเฉลี่ย 1.709 ล้านบาท
อันดับ 9 บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดใหม่ 1,832 หน่วย ราคาเฉลี่ย 7.291 ล้านบาท นับเป็นบิ๊กแบรนด์อีกรายที่มีเข็มมุ่งลงทุนขยับเซ็กเมนต์เจาะลูกค้ากระเป๋าหนัก เพื่อแก้อาถรรพ์ยอดปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูงของตลาดกลาง-ล่าง
และอันดับ 10 บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เจ้าของลิขสิทธิ์ธีมธุรกิจพหุจักรวาล เปิดใหม่ 1,739 หน่วย ราคาเฉลี่ย 3.884 ล้านบาท
4 บริษัทมหาชนเบียดกันเอง
จะเห็นได้ว่าสถิติในด้าน “มูลค่าโครงการใหม่” มีบิ๊กแบรนด์ถึง 4 บริษัทที่เบียดแทรกเข้ามาอยู่ในทำเนียบท็อป 10 คือ “เอสซี-เมเจอร์-อนันดา-คิวเฮ้าส์” มีรายละเอียดดังนี้
อันดับ 1 ค่ายเอพี ไทยแลนด์ ด้วยมูลค่าเปิดใหม่สูงสุด 47,778 ล้านบาท, อันดับ 2 บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน เปิดใหม่ 17 โครงการ จำนวน 1,648 หน่วยเท่านั้น แต่มีมูลค่าเปิดใหม่ 32,676 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 19.827 ล้านบาท
อันดับ 3 พี่ใหญ่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งความจริงถือว่ามูลค่าเปิดใหม่อยู่บนบรรทัดเดียวกันกับเอสซี แอสเสทฯ อยู่ที่ 32,352 ล้านบาท มูลค่าโครงการเฉือนกันเพียง 324 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ย 13.189 ล้านบาท เท่ากับเจาะกลุ่มลูกค้าตรงกันเป๊ะเว่อร์ระหว่างแลนด์ฯ กับเอสซีฯ, อันดับ 4 ค่ายแสนสิริ เปิดตัวใหม่ 31,679 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 8.663 ล้านบาท โดยมีแบรนด์ธงหมู่บ้านเศรษฐสิริเป็นหัวหอกทำรายได้หลัก
อนันดาฯนิวไฮเฉลี่ย 253 ล้าน
อันดับ 5 ค่ายโนเบิลฯ ที่เบ่งพอร์ตลงทุนใหม่จากการเปิดตัวคอนโดนิวซีรีส์ บนหลากทำเลรอบเมืองหลวง รวมทั้งทำเล New CBD อย่างพระราม 9, อันดับ 6 ค่ายศุภาลัย ถ้าหากนับรวมพอร์ตลงทุนในต่างจังหวัดด้วย อันดับต้องขยับขึ้นปรู๊ดปร๊าดแน่นอน เพราะศุภาลัยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดในหัวเมืองภูมิภาค เปิดตัวใหม่ในเขต กทม.-ปริมณฑล มูลค่า 26,410 ล้านบาท
อันดับ 7 เบียดแทรกเข้ามาโดย บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดใหม่ 18,250 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ย 16.237 ล้านบาท จับเซ็กเมนต์ตลาดไฮเอนด์ นำเสนอโมเดลคอนโดฯ Pet Friendly เป็นรายแรก ๆ ของตลาด ทำให้รู้ข้อมูลบิ๊กดาต้าว่าตลาด Pet Parents เติบโตระเบิดระเบ้อ 3-4 เท่าตัว จนกระทั่งประกาศกลยุทธ์คอนโดฯ ใหม่นำเสนอโมเดลเลี้ยงสัตว์ได้ทุกโครงการ
อันดับ 8 บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ สร้างความฮือฮาทั่วทั้งวงการ จากการเปิดขายคอนโดฯ หรูเริ่ดระดับโลกแบรนด์ปอร์เช่ ทาวเวอร์ มีแค่ 22 ยูนิต และคนที่จะซื้อได้ต้องมีเงินนอนรอในกระเป๋าเริ่มต้น 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยเปิดใหม่ 15,969 ล้านบาท แต่ยูนิตหลักสิบเพียง 62 หน่วย ทำให้ดันราคาเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 253.155 ล้านบาท/หน่วย
บิ๊กเนมได้เปรียบการแข่งขัน
อันดับ 9 ค่ายพฤกษาฯ เปิดใหม่ 13,157 ล้านบาท นับเป็นดีเวลอปเปอร์อีกค่ายที่พยายามขยับขึ้นไปเจาะกำลังซื้อระดับบน เพราะรู้สึกไม่ไหวจะเคลียร์กับปัญหากู้ไม่ผ่านระดับสูง มีราคาเฉลี่ย 7.291 ล้านบาท และอันดับ 10 บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ หรือคิวเฮ้าส์ เปิดใหม่ 11,538 ล้านบาท แม้จะโลว์โปรไฟล์ไปบ้าง เพราะไม่ได้จัดเวทีพบสื่อมวลชนมาหลายปีแล้ว แต่การ์ดไม่ตก เพราะมีราคาเฉลี่ย 8.861 ล้านบาท รักษาภาพลักษณ์แบรนด์บ้านหรูไว้ได้เหนียวแน่น
“ดร.โสภณ” เพิ่มเติมข้อมูลด้วยว่า ภาพรวม 10 บริษัทแรกล้วนเป็นบริษัทมหาชน มีจำนวนหน่วยคิดเป็นสัดส่วน 56% ของตลาดรวม จำนวน 34,711 หน่วย จากสถิติตลาดรวมเปิดใหม่ 61,453 หน่วย
และในด้านมูลค่าโครงการเปิดใหม่ พบว่า 10 บริษัทแรกมีมูลค่ารวมกัน 260,538 ล้านบาท จากตลาดรวมที่มีมูลค่า 413,773 ล้านบาท สัดส่วนเท่ากับ 63% หรือเกือบ 2 ใน 3 ของภาพรวมทั้งตลาด แสดงให้เห็นถึงสถานะความได้เปรียบการแข่งขันตกอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดทั้งสิ้น