
เปิดบิ๊กดาต้าเทรนด์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2568 โดย CBRE-ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ครบถ้วนทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก “โรงแรม รีเทล ที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรม”
วันนี้มีจุดโฟกัสดาต้าเบสรีเทล โดย “โชติกา ทั้งศิริทรัพย์” หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ขมวดปม ณ สิ้นปี 2567 มหานครกรุงเทพมี 4 คลัสเตอร์รีเทล ลงทุนโดยยักษ์วงการธุรกิจเมืองไทย 6 กลุ่ม เป็นเจ้าของพื้นที่รีเทลเพียง 12 แห่ง แต่ขนาดรวมกันทะลุทะลวงเกิน 1 ล้านตารางเมตร (ดูกราฟิกประกอบ)
ในภาพใหญ่ตลาดพื้นที่ค้าปลีกของกรุงเทพฯ ยังคงคึกคักและมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยศูนย์การค้าใจกลางเมืองต่างพัฒนาพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงและเพิ่มผลการดำเนินงาน
ทาง CBRE คาดการณ์ว่าจะยังคงมีซัพพลายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นอีกในปี 2568 ส่งผลให้ตลาดพื้นที่ค้าปลีกยังคงคึกคักต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่รับอานิสงส์ทางตรงจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อย่างน้อยที่สุดมี 2 บิ๊กโปรเจ็กต์ แบ่งเป็น 1 โปรเจ็กต์จากการรีโนเวตหรือปรับปรุงใหม่ ได้แก่ “เซ็นทรัล บางนา” ไซซ์ 64,163 ตารางเมตร
กับโครงการใหม่หมาดที่คนจับตามองมากที่สุดใน พ.ศ.นี้ คือ “เซ็นทรัล พาร์ค” ไซซ์ 87,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ร่วมทุนแบรนด์ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระรามที่ 4
จุดน่าสนใจยังรวมถึงตลาดจะมีซัพพลายใหม่ที่เป็นศูนย์การค้าแบบปิด (Enclosed Mall) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วกรุงเทพฯ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แบรนด์ต่างประเทศหลายรายมองเห็นศักยภาพในการเติบโตนี้ ทำให้คาดว่าความต้องการพื้นที่ค้าปลีกบนทำเลใจกลางเมืองจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2568 บิ๊กดาต้าที่เห็น สัดส่วนหลัก 60% มาจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, 29% มาจากแฟชั่น, ที่แปลกตาคือ 6% จับจองโดยโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน ที่เหลืออย่างละ 3% มาจากธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ กับร้านบิวตี้และเวลเนส
โดยแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มคือกลุ่มที่โดดเด่นในหมู่แบรนด์ใหม่ที่มาจากต่างประเทศ โดยมีแบรนด์ญี่ปุ่นและจีนเป็นผู้นำ ด้านแบรนด์ยุโรปยังคงแข็งแกร่งในกลุ่มแฟชั่นและเครื่องประดับ