
“เศรษฐา” นายกฯคนที่ 30 และ Cofounder หลักสูตร The NEXT Real แนะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย ด้วยการเดินหน้าลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ หวังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ-ขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่เมืองน่าเที่ยว ส่วนภาคอสังหาฯ แนะบริหารสภาพคล่องพร้อมเตรียมปรับตัว รับความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เหลือ 37 ล้านคน
นายเศรษฐา ทวีสิน Cofounder หลักสูตร The NEXT Real และนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดงาน Real Connext 2025 ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราเฉลี่ยเพียง 1.9% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างมีอัตราการเติบโตมากกว่าไทยถึง 2 เท่า
ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมาอย่างยาวนาน แนวทางที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ จึงเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดย 20 ปีที่ผ่านมา โครงการเมกะโปรเจ็กต์มีเพียงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ยังไม่มีโครงการอื่น ๆ ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเลย
ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและแก้ปัญหาหลากหลายด้าน ได้แก่
1.การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างความมั่นใจการลงทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Data Center เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานภายในสนามบิน เช่น ต้องมี Cold Storage เพื่ออำนวยความสะดวกต่อสินค้าที่ต้องแช่เย็น
2.การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งระยะยาว ที่ผ่านมา การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลส่วนหนึ่งในแต่ละปี มักเป็นเรื่องการชดเชยราคาพืชผลทางการเกษตรจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การสร้างเขื่อน การสร้างคูน้ำ ตลอดจนการถมทะเล จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาระยะยาว
3.การขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากตัวเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน รถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบคมนาคม จะช่วยกระจายความเจริญออกจากกรุงเทพฯ เมืองขยายตัว เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
และ 4.การเพิ่มระยะเวลาพำนักและปริมาณการใช้จ่ายของการท่องเที่ยว เชื่อมโยงการคมนาคมที่แข็งแรงออกสู่เมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยว เพื่อเพิ่มระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากที่เน้นท่องเที่ยวเมืองหลักอยู่เพียงราว 3 วัน ให้ขยายไปสู่การท่องเที่ยวเมืองอื่น ๆ เป็น 10 วันแบบฝรั่งเศส อิตาลี และเพิ่มปริมาณการใช้จ่ายต่อหัว (Spending per Head) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าการเพิ่มแต่ปริมาณนักท่องเที่ยว
สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้นั้น อาจมาได้จาก 3 แนวทาง คือ 1.การยกระดับเพดานหนี้สาธารณะเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย ถูกกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 70%
ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตรา 60-65% หากไม่แก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะอาจจะไปแตะที่ 70% ได้ในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำหนดเพดานไว้สูงกว่า 70% โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เข้าใจว่าสูงถึง 200%
2.การออกตราสารหนี้และการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เช่น โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งสามารถดึงดูดบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จากต่างประเทศ และ 3.การฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อแบ่งประโยชน์จากทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใต้พื้นที่ทับซ้อนกว่า 20 ล้านล้านบาท โดยไม่แบ่งพื้นที่ทับซ้อน
“ก๊าซเหล่านี้เป็นพลังงานไม่สะอาด หรือ Brown Energy อีก 10 ปี จะไม่มีใครอยากให้ใช้ทรัพยากรนี้ เนื่องจากผู้ใช้ก๊าซในธุรกิจจะถูกกำแพงภาษี ธุรกิจส่วนใหญ่จะหันไปใช้พลังงานสะอาดอื่น ๆ แทน ขณะที่ก๊าซเหล่านี้มีมูลค่าถึงกว่า 20 ล้านล้านบาท สูงกว่างบประมาณแผ่นดินประเทศไทยปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท
หากนำมาแบ่งผลประโยชน์กันเหลือมูลค่าฝ่ายละ 10 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจะมีงบประมาณแผ่นดินเกือบ 3 ปีเลยทีเดียว แต่หากไม่รีบเจรจา ไม่รีบนำมาใช้ อนาคตก็จะไม่มีใครต้องการใช้” นายเศรษฐาระบุ
สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายเศรษฐากล่าวว่า อยากให้ทุกบริษัทช่วยกันประคองธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอนาคตจะยังไม่สดใสและต้องทำงานหนัก อย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า ต้องบริหารกระแสเงินสดให้ดีเพราะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจ
อย่าคาดหวังว่าจะพึ่งพาเงินทุนจากการพรีเซลเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และอย่าคาดหวังว่าการยื่นขอ EIA และจะได้รับการอนุมัติในทุกโครงการ
นายเศรษฐากล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากร (Shift of Demographic) เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีนปัจจุบันมี 1,250 ล้านคน จะลดลงเหลือ 750 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรเพียง 66 ล้านคน ในอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าจะเหลือจำนวนเพียง 37 ล้านคนเท่านั้น
ซึ่งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงและลดจำนวนลง จะส่งผลให้ไม่มีลูกค้ามาซื้อบ้าน ธุรกิจต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรนี้เช่นกัน ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสร้างสังคมให้ดี ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ทำให้คนมั่นใจในการมีลูก รวมถึงทำให้คนรุ่นใหม่มั่นใจในอนาคต สร้างสังคมที่เท่าเทียม เปลี่ยนเทรนด์ประชากร
สำหรับงาน Real Connext 2025 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 จากที่จัดงานครั้งแรกในปี 2018 ปัจจุบันหลักสูตร The NEXT Real มีผู้สำเร็จการอบรมแล้วรวม 1,700 คน รวม 14 รุ่น โดยสัดส่วนผู้เข้ารับการอบรม 50% เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า
ส่วนสัดส่วนอีก 50% เป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และเกี่ยวข้อง ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมรวมรุ่นผู้เข้ารับการอบรมตั้งแต่รุ่นที่ 1-14 พร้อมทั้งจัดแสดงสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง และจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในแวดวงธุรกิจประเด็นต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2568 ณ Island Hall ชั้น 3 Fashion Island
ทั้งนี้ หลักสูตร The NEXT Real มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนแนวคิด และมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งมีการรวบรวมผู้บริหารในวงการอสังหาริมทรัพย์มาถ่ายทอดทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ใช้เป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ ให้ก้าวพ้นจากความผิดพลาด และมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ
และมีโอกาสได้พบกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบ เกิดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ผสมผสานการเรียนรู้นวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการนำ “Experience” ชั้นเลิศ บวก “Trend” ระดับโลก สร้าง “Innovation” ใหม่ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์
พร้อมกับการสร้าง Real Estate Ecosystem ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง และการเชื่อมต่อกันอย่างแข็งแกร่งในกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยส่งเสริมและต่อยอดความสำเร็จซึ่งกันและกัน
