มหกรรมบ้าน-คอนโด ขอยาเร็วยาแรง ลดค่าโอน-จำนอง แก้ LTV

มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 ระหว่าง 20-23 มีนาคม 2568

งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 ระหว่าง 20-23 มีนาคม 2568 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Living For Better Life” ตอบรับกระแสรักษ์โลก พร้อมจับมือภาครัฐ-เอกชน เสริมโอกาสทางสินเชื่อ หวังลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์เรต) กระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้คึกคัก

ดร.ดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคม 2568 เปิดเผยว่า สามสมาคมผู้จัดงาน ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

อสังหาฯ 200 บริษัท ขนบ้าน-คอนโดฯออกบูท 1,000 โครงการ

เป้าหมายการจัดงาน สามสมาคมตั้งเป้ายอดขายในงาน 4,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 200 บริษัท นำโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมไม่ต่ำกว่า 1,000 โครงการร่วมออกบูท ครอบคลุมทุกทำเลทั่วประเทศไทย และครอบคลุมทุกระดับราคา ตั้งแต่ต่ำล้านไปจนถึงหลังละ 100 ล้านบาทขึ้นไป

ไฮไลต์สำหรับผู้ที่จองซื้อในงาน รับสิทธิลุ้นรับโปรโมชั่นพิเศษ ส่วนลด และของรางวัล รวมมูลค่า 800,000 บาท โดยงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 วันที่ 20-23 มีนาคมนี้ จัดขึ้น ณ Hall 5 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“เทรนด์ตลาดอสังหาฯ ปี 2568 ยังอยู่ในช่วงปรับตัว หลังจากเจอปัญหาแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อสูงและเข้มงวดการพิจารณาปล่อยสินเชื่อหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดยังมีโอกาสฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวของผู้ประกอบการที่นำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น บ้านอัจฉริยะ บ้านประหยัดพลังงาน

ดังนั้น การจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดในช่วงต้นปี 2568 จึงเป็กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และสถาบันการเงิน พร้อมข้อเสนอพิเศษและโอกาสเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสสำคัญในการเจรจากับภาครัฐ เพื่อผลักดันมาตรการลดดอกเบี้ยและปรับเกณฑ์สินเชื่อ LTV ให้เหมาะสม

ADVERTISMENT

สำหรับธีมการจัดงาน คือ ‘Sustainable Living For Better Life’ มุ่งสร้างความยั่งยืนทั้งเพื่อคุณและเพื่อโลก ผู้ร่วมออกบูทมีทั้งบริษัทอสังหาฯ และสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย LH Bank เป็นต้น มาร่วมออกบูทและอำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษาและยื่นขอสินเชื่อในงานได้ทันที” ดร.ดลพิวัฒน์กล่าว

ผู้บริโภคเจน X และ Y ใส่ใจเทรนด์โครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายหัสกร บุญยัง ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 กล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen X ให้ความสำคัญกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ADVERTISMENT

การจัดงานครั้งนี้จึงนำเสนอแนวคิดที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) พร้อมโชว์เทรนด์บ้านรักษ์โลก ประหยัดพลังงาน วัสดุก่อสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

“งานครั้งนี้ได้เตรียมแผนประชาสัมพันธ์ครบวงจร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ครอบคลุม Facebook, Instagram, LINE OA, Website, YouTube, TikTok และ Google Ads และ KOL ด้านอสังหาฯ เช่น กูรูลิฟวิ่ง, เซลเฮียร์, โฮมซูมเมอร์ ฯลฯ ช่องทางทีวีและสื่อดิจิทัล BTS และ MRT”

นายหัสกรกล่าวด้วยว่า ด้านการจัดแคมเปญโปรโมชั่น จะเป็นเวทีในการแข่งขันช่วงชิงกำลังซื้อลูกค้า โดยงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 มีโปรโมชั่นส่วนกลางมูลค่ารวม 800,000 บาท ในจำนวนนี้ รางวัลใหญ่เป็นส่วนลดเงินสด 3 แสนบาท ตั้งความหวังทำยอดขายในงานใกล้เคียงกับการจัดงานครั้งที่ 46

“การจัดงานครั้งที่ 46 ทำยอดขายจากในงานเพิ่ม 100% จาก 5,000 ล้านบาทเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท การจัดงานครั้งที่ 47 จึงคาดหวังว่าจะไม่น้อยกว่าเดิม อยู่ที่ 4,000-10,000 ล้านบาท โดยการซื้ออสังหาฯ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าที่สุดทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ”

ดร.พิวัฒน์ ปรีดาวิภาต ประธานจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครังที่ 47

3 สมาคมอสังหาฯ ขอมาตรการ “ยาเร็ว-ยาแรง”

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 นับเป็นปรอทวัดไข้และจุดฟื้นตัวของตลาดลูกค้าในประเทศของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ภาคเอกชนได้ช่วยตัวเองแล้วด้วยการลงทุนจัดงานรวม 10 ล้านบาท

สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องการมาตรการที่เป็นยาเร็วและยาแรง โดยต้องการ 2 มาตรการ คือ มาตรการยาเร็ว ด้วยการต่ออายุลดค่าโอนและจดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% หรือล้านละ 30,000 บาท ลดเหลือล้านละ 300 บาท ในราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุลงเมื่อ 31 ธันวาคม 2567

ข้อเสนอคือขอให้ต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก 1 ปี หรือให้หมดอายุภายใน 31 ธันวาคม 2568 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มกำลังซื้อตลาดกลาง-ล่าง ซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุด รวมกัน 50-60%

ส่วนมาตรการยาแรง เสนอให้แบงก์ชาติพิจารณาผ่อนปรน LTV-loan to value (มาตรการบังคับเงินดาวน์แพงในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป) โดยปลดล็อกให้มี LTV 100% ในทุกระดับราคา เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี รอจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้จริง ค่อยกลับนำมาบังคับใช้ใหม่ก็ได้

ลุ้นรัฐบาลคลอดมาตรการวันที่ 20 มีนาคมนี้

“มหกรรมบ้านและคอนโด จัดขึ้นในวันที่ 20-23 มีนาคมนี้ จากการที่สามสมาคมเดินสายประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคาแห่งประเทศไทย มีสัญญาณออกมาว่าอาจได้รับข่าวดีทั้งมาตรการยาเร็วและยาแรงในวันที่ 20 มีนาคมนี้”

ทั้งนี้ หากมาตรการยาเร็วและยาแรง มาทันภายในวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มจัดงาน จะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อครั้งสำคัญในภาวะที่สถานการณ์ตลาดทุนอยู่ในช่วงขาลงรุนแรง และจะทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและนักลงทุน เพราะต้องประกาศผลประกอบการายไตรมาส

แต่ถ้ามาตรการยาเร็วและยาแรงมาไม่ทันไตรมาส 1/68 ถึงแม้จะมาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา โดยงานมหกรรมบ้านและคอนโด เป็นเวทีนำเสนอโครงการและแข่งขันแคมเปญโปรโมชั่นให้เป็นตัวเลือกของผู้บริโภคที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นของการใช้ชีวิต

“บทบาท 3 สมาคมวงการอสังหาฯ เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจจริง ๆ และมีพาวเวอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไม่ยิ่งหย่อนกว่าสมาคมด้านการท่องเที่ยว หรือสมาคมธนาคารไทย ความร่วมมือเราไปทุกเวทีเศรษฐกิจ

แนะรัฐขยายวงเงินซอฟต์โลน อุ้มรายได้น้อย-ปานกลาง

นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ยังมีอีกมาตรการที่ขอให้เดินหน้าต่อเนื่องในด้านวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ที่ผ่านมาทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดวงเงินไม่ต่ำกว่า 1.25 แสนล้านบาท พบว่าเต็มวงเงินอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับขนาดตลาดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 7 แสนล้านบาท ถือว่ายังไม่พอเพียงกับความต้องการขอสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

และนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตอนนี้วงการเศรษฐกิจได้รับผลกระทบไปทั่วโลกจากทรัมป์ 2.0 ตลาดโลกไม่ค่อยดี มู้ดคนในตลาดทุนไม่ดีเลย ดังนั้นภาพที่แบงก์ชาติเคยมองว่ามีการซื้ออสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรจึงแทบจะหมดไปจากตลาดตั้งนานแล้ว มาตรการ LTV จึงไม่มีความจำเป็น

ในขณะที่ภาคเอกชนได้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 47 ดังนั้น จึงอยากขอรับการสนับสนุนมาตรการจากภาครัฐ ซึ่งการบริหารจัดการด้านการเงินมีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการออกหุ้นกู้สัดส่วนมากถึง 60% ลดบทบาทการขอสินเชื่อสถาบันการเงิน

แต่ถ้าไม่สามารถสร้างยอดรับรู้รายได้หรือยอดโอน ก็อาจมีผลกระทบต่อการชำระคืนหุ้นกู้ซึ่งในภาพรวม ภาระหนี้หุ้นกู้ที่ต้องชำระคืนรวมกันในปี 2568 มีจำนวนมากถึง 80,000 ล้านบาท ในขณะที่มาตรการต่ออายุลดค่าโอน-จดจำนอง และปลดล็อก LTV จะเป็นสัญญาณบวกให้กับผู้ซื้อและผู้ประกอบการไปพร้อม ๆ กัน

“นาทีนี้ ถ้ารัฐออกมาตรการมาสนับสนุน เหมือนกับการออกหมัดคู่ การชกในสังเวียนธุรกิจหมัดก็จะเพิ่มน้ำหนักทำให้หวังผลได้เร็วขึ้น” นายพรนริศกล่าว