ดอกเบี้ย กนง.ในมือ 7 แบงก์พาณิชย์ อสังหาฯจี้ ธปท.ตรวจการบ้านผู้กู้ MLR-MRR

อสังหา กทม.
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

เวทีสัมมนาประจำปี 3 สมาคมวงการพัฒนาที่ดิน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ร้อนฉ่าจากการแชร์ข้อมูลแบงก์ชาติยิงกระสุนลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่อานิสงส์ตกถึงผู้กู้ครึ่งเดียว (ดูกราฟิกประกอบ)

งานนี้ว่ากันว่านายแบงก์งัดวรยุทธ์ทุกท่วงท่า ทั้ง “สลับเท้าหลอก-ดอกเบี้ยทิพย์-ดีเลย์แท็กติก” ทำให้เหมือนไม่มีแรงกระเพื่อมอะไรเพราะผู้กู้รายย่อยอาจดูไม่ออก แต่แท้จริงผู้กู้รายใหญ่ชี้เบาะแสว่ามีคลื่นใต้น้ำซ่อนอยู่ ท้าพิสูจน์กันด้วยคำทำนายล่วงหน้า ธุรกิจธนาคารจะประกาศกำไรนิวไฮอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/68

กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง

เปิดประเด็นโดย “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย นำเสนอข้อมูลการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2 ครั้ง ลดครั้งละ 0.25% รวมกันเท่ากับ 0.50% หรือ 50 สตางค์ แต่พบว่าแบงก์พาณิชย์ 7 แห่ง ส่งต่อการลดดอกเบี้ยให้กับผู้กู้เฉลี่ยที่ 22-48 สตางค์

รายละเอียด กนง.ปรับลดดอกเบี้ยวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ลดลง 0.25% หรือลดลง 25 สตางค์ แต่แบงก์พาณิชย์ 7 ราย ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (Kbank), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทหารไทย (ttb)

จะเห็นว่าส่งต่อการลดดอกเบี้ยมาให้ผู้กู้ไม่เต็มจำนวน แบ่งเป็น อัตราดอกเบี้ย MLR (ดอกเบี้ยผู้กู้รายใหญ่) เฉลี่ยที่ 16.5 สตางค์ กับอัตราดอกเบี้ย MRR (ดอกเบี้ยผู้กู้รายย่อย) 14.6 สตางค์

ถัดมา กนง.ปรับลดดอกเบี้ยวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ลดลงอีก 25 สตางค์ พบว่า แบงก์พาณิชย์ 7 ราย มีการส่งต่อการลดดอกเบี้ยถึงผู้กู้น้อยกว่าเดิม โดยดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยลดให้ 12 สตางค์ กับดอกเบี้ย MRR เฉลี่ยลดลง 7 สตางค์

ADVERTISMENT

ดังนั้น เมื่อรวมการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. สองครั้ง เท่ากับลดลง 50 สตางค์ ภาพรวม 7 แบงก์ลดดอกเบี้ยเฉลี่ยครึ่งหนึ่ง แบ่งเป็น ลดดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย 28% และลดดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย 22 สตางค์

เรต “MOR” ลดดอกเบี้ยทิพย์

มองเห็นตัวเลขดอกเบี้ย MOR ลดเฉลี่ย 48 สตางค์ จากการลดดอกเบี้ยนโยบาย 50 สตางค์ เท่ากับลดให้หรือส่งต่อเกือบเต็มจำนวน แต่ไส้ในดูเหมือนมีการสลับขาหลอก

ADVERTISMENT

โดยมีข้อสังเกตว่า แบงก์พาณิชย์มีการอ้างอิงลดดอกเบี้ย MOR ให้ผู้กู้เต็มจำนวนตาม กนง. กล่าวคือ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 สตางค์ ก็มีการส่งต่อการลดดอกเบี้ย MOR ให้ผู้กู้เต็มจำนวนที่ 25 สตางค์
ประเด็นอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย MOR-Minimum Overdraft Rate เป็นดอกเบี้ยการเบิกเกินบัญชี ในทางปฏิบัติ MOR จะมีการใช้จริงในกรณีฉุกเฉินหรือชั่วคราว และใช้ระยะสั้น เช่น 1-2 คืนเท่านั้น ปริมาณการใช้วงเงินเบิกเกินบัญชีมีน้อยมาก

ดังนั้น การที่ธนาคารพาณิชย์อ้างอิงว่า อัตราดอกเบี้ย 3 ประเภท คือ MOR, MLR, MRR ได้มีการส่งต่อการลดดอกเบี้ยให้เต็มจำนวนครั้งละ 25 สตางค์แล้วสำหรับประเภทดอกเบี้ย MOR จึงเป็นมายาการตลาด เพราะสินเชื่อหลักอยู่ที่ดอกเบี้ย MLR กับ MRR โดยผู้กู้ส่วนใหญ่ 99% แทบจะไม่ได้ใช้ MOR แต่อย่างใด

“กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 50 สตางค์ ภาพที่เห็นเราอยากให้แบงก์พาณิชย์ส่งต่อดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กับผู้กู้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเภทดอกเบี้ย MRR กับ MLR ควรส่งต่อการลดดอกเบี้ยให้มากที่สุด ไม่ใช่เฉลี่ยเพียงครึ่งเดียว”

โดยมีข้อเสนอ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะกำกับระบบสถาบันการเงิน ต้องมีบทบาทมากขึ้น เพื่อส่งต่อให้การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 25 สตางค์ มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการดูแลและส่งเสริมให้การลดดอกเบี้ย MLR กับ MRR ส่งต่อแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงผู้กู้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สอดคล้องกับ “สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า นักธุรกิจเรียกร้องให้แบงก์ชาติน่าจะต้องมีมาตรการกำกับให้แบงก์พาณิชย์ปฏิบัติตามไกด์ไลน์มาให้ โดยดอกเบี้ย กนง.ลดครั้งละ 25 สตางค์ เป็นการให้ไกด์ไลน์ไว้แล้ว

“อยากให้แบงก์ชาติมีการกำกับและส่งเสริมให้แบงก์พาณิชย์ มีการปฏิบัติตามดอกเบี้ยที่ไกด์ไลน์ออกมา เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจทำได้อย่างแท้จริง”

หน่วงเวลาลดดอก 5-16 วัน

ทั้งนี้ วรยุทธ์ที่วงการแบงก์นำมาใช้นับรวมถึงการ “ดีเลย์แท็กติก” คำอธิบายคือ พลันที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ในทางปฏิบัติแบงก์พาณิชย์สามารถลดตามได้ทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมีการทยอยประกาศลดดอกเบี้ยในช่วง 5-16 วัน ถัดมา กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ทางแบงก์พาณิชย์ก็ทยอยปรับลดในช่วง 5-9 วันตามหลัง

นั่นหมายความว่าระหว่างที่ยังไม่ประกาศลดดอกเบี้ย AI ของแบงก์ก็ยังคำนวณดอกเบี้ยรับที่ 25 สตางค์ในช่วงดีเลย์ 5-16 วันดังกล่าว ทำให้ผู้กู้หรือผู้แบกดอกเบี้ยเงินกู้มองได้ว่า แท็กติกแบบเก็บเล็กผสมน้อย อาจเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวที่ทำให้ธุรกิจแบงก์กำไรนิวไฮในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

ข้อคิดเห็นของ “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายเป็นดอกเบี้ยแนะนำ

“ถามว่าการส่งต่อเพียงครึ่งเดียว อำนาจแบงก์ชาติไม่มีในการทำอะไรเลยเหรอ เราลดแต่ท่านไม่ลดแล้วไปสั่งแบงก์รัฐให้ลด ตอนนี้แบงก์รัฐล่าสุดก็ไม่ลดเท่าไหร่ เราใช้ดอกเบี้ย MLR เป็นหลักในการกู้ แต่แบงก์พาณิชย์ไม่ลดอันนี้ให้ นั่นคือการส่งต่อไปลดดอกเบี้ยอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้กู้”

และ “ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” ประธานกรรมการกลุ่มริชี่ เพลส 2002 และนายกกิติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า ขอออกความเห็นในนามส่วนตัว ทุกวันนี้เวลาแบงก์ประกาศผลประกอบการ ยังทำกำไรนิวไฮอยู่ตลอด

ในภาวการณ์ที่ธุรกิจแบงก์กำไรจาก Gap (ส่วนต่างดอกเบี้ยฝากกับดอกเบี้ยกู้) ที่กว้างขึ้นทุกที วาบความคิดที่ดังกึกก้องในใจนักธุรกิจและในใจผู้กู้ทั้งรายใหญ่ รายย่อย …คำถามคือแบงก์ชาติทำอะไรอยู่ ?