
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น วันไตโลก (World Kidney Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต ปัจจุบันสถานการณ์โรคไตวายเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตวาย และรอการฟอกไตรายใหม่เพิ่มมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อสืบสานพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ด ร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
องค์ประธานผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนชาวไทย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียม
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดกิจกรรมวันไตโลก ประจำปี 2568 “Are Your Kidneys OK? Detect Early, Protect Kidney Health” หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต ร่วมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมโรคไต รพ.จุฬาภรณ์
นำโดย นพ.ศุภณัฐ วรวิชชวงษ์ นพ.ปรัชญา พุมอุทัยวิรัตน์ และ นพ.ปิยพันธ์ ประพันธ์วัฒนะ ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตบนเวทีเสวนาและการดูแลผู้ป่วยโรคไตและยังรวมถึงดูแลผู้บริจาคไต เรียกได้ว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ดูแลทั้งผู้ให้และผู้รับในการติดตามอาการป่วยเป็นอย่างดี
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ บริเวณ ชั้น 1 อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2568
“ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยให้บริการดูแลรักษาโรคไตแบบครบวงจร ได้ให้ความสำคัญของการจัดกิจกรรมวันไตโลก พร้อมร่วมรณรงค์ส่งเสริมดูแลสุขภาพไตแก่ประชาชน ภายใต้แนวคิด “Are Your Kidneys OK? Detect Early, Protect Kidney Health” “หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต”
วัตถุประสงค์เพื่อให้บริการวิชาการด้านสุขภาพและร่วมดูแลรักษาสุขภาพในเชิงป้องกัน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนรู้ระดับความเสี่ยง หมั่นตรวจร่างกาย และลดพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน โดยมีเป้าหมายลดอัตราการตายจากโรคสำคัญ
ทั้งยังสร้างการรับรู้การดูแลรักษาที่เหมาะสมและชะลอการเสื่อมของไต ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตด้วยการบริจาคอวัยวะ เพื่อสนับสนุนให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความเข้มแข็ง ประชาชนไทยมีสุขภาพดี”
สำหรับกิจกรรมภายในงานวันไตโลก ประจำปี 2568 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยศูนย์โรคไต ได้จัดให้มีการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไต ในหัวข้อ “ปัญหาคาไต ใส่ใจป้องกัน” โดย นพ.ศุภณัฐ วรวิชชวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคไต รพ.จุฬาภรณ์
หัวข้อ “ปลูกถ่ายไต ชีวิตใหม่ของผู้รับ” โดย นพ.ปรัชญา พุมอุทัยวิรัตน์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคไต รพ.จุฬาภรณ์ ซึ่งมีแขกรับเชิญพิเศษ คุณชวัลกร ภู่เจนจบ คนไข้ผู้รับการปลูกถ่ายไตรายแรกของ รพ.จุฬาภรณ์ มาร่วมพูดคุยถึงการปลูกถ่ายไตในโอกาสนี้ด้วย
และหัวข้อ “ฟอกไต ต่อชีวิต ไตเขาไตเรา” โดย นพ.ปิยพันธ์ ประพันธ์วัฒนะ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคไต รพ.จุฬาภรณ์
นอกจากนี้ ในงานมีการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรอง แนะนำ ปรึกษาดูแลสุขภาพไต เช่น การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ ตรวจวัคความดันโลหิต แพทย์ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีผลการตรวจโปรตีนในปัสสาวะผิดปกติ โภชนาการอาหารผู้ป่วยโรคไต นิทรรศการเรื่องการบำบัดทดแทนไตและรับบริจาคอวัยวะ
สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกนั้น ต้องรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไต กล่าวคือ การบำบัดทดแทนไตในการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายวิธีหนึ่ง โดยนำไตที่ยังทำงานดีหนึ่งข้างจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคที่เสียชีวิตภาวะสมองตาย นำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
โดยให้ผลในการรักษาดีกว่าและประสบความสำเร็จมากกว่า การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งประโยชน์ของการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะมีการทำงานของไตที่ใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่มีไตปกติทั้งสองข้าง
และเหนือกว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การกรองของเสีย การแลกเปลี่ยนดูดกลับน้ำและเกลือแร่ ผลิตฮอร์โมน เป็นต้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคแทรกซ้อนจากการฟอกไต มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ การปลูกถ่ายไตมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ 1. การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต โดยผู้บริจาคไตต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือเป็นสามีภรรยาที่แต่งงานตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามกฎหมาย
การปลูกถ่ายไตโดยวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่มีภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ยังไม่เข้ารับการบำบัดทดแทนไตโดยการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง
2. การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตาย ในทางการแพทย์และกฎหมายถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว ที่มีการทำงานของไตยังปกติ โดยผ่านการบริจาคให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยซึ่งจะเป็นองค์กรกลางที่จัดสรรให้กับผู้รอรับไตอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น โอกาสประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตสูงกว่าอดีต เพราะมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อไตและเลือดของผู้บริจาคและผู้รับบริจาค มีการผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง มียากดภูมิคุ้มกันชนิดรับประทานที่มีประสิทธิภาพ
โดยผลสำเร็จในการปลูกถ่ายไตขึ้นกับหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดคือชนิดของไตที่ได้รับ ถ้าเป็นไตที่มาจากญาติพี่น้องที่เนื้อเยื่อสามารถเข้ากันได้ และมาจากบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสที่ไตจะทำงานได้เป็นปกติ และทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นก็มีสูงขึ้น ผลสำเร็จใน 1 ปี และ 5 ปี อยู่ประมาณ 95% และ 90% ตามลำดับ
แต่ถ้าเป็นไตที่มาจากบุคคลอื่น หรือมาจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว แม้โอกาสที่ไตจะทำงานได้เป็นปกติจะลดลง แต่ก็ยังคงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากผลสำเร็จใน 1 ปี และ 5 ปี อยู่ประมาณ 85% และ 70% ตามลำดับ
ผู้ป่วยสัญชาติไทยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไต กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะได้รับการดูแลครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา และจะได้รับการดูแล ตรวจติดตามอาการของทั้งผู้ป่วยและผู้บริจาคไตไปตลอดชีวิต
สำหรับศูนย์โรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาวอย่างครบครันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีทีมบุคลากรซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคไต ทำงานร่วมกันกับโภชนากร เภสัชกร และพยาบาลประจำศูนย์ในการประเมินการทำงานของระบบไต
ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อช่วยในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยชะลอการเสื่อมของไต และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากไตเสื่อม เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคโดยทีมแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคไต
อาทิ คลินิกให้คำปรึกษาก่อนบำบัดทดแทนไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง การปลูกถ่ายไต โดยสามารถติดต่อเข้ารับการปรึกษาได้ ที่ศูนย์โรคไต ชั้น 3 อาคารอัครราชกุมารี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 1118 ต่อ 6192-3 หรือปรึกษาการปลูกถ่ายไต ติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายไต โทรศัพท์ 1118 ต่อ 6782
และสำหรับผู้รับบริการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่มีประวัติการรักษา หรือ HN เพื่อความสะดวกและไม่พลาดทุกการแจ้งเตือน ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHULABHORN HEALTH PLUS ได้ทาง App store และ Google Play store ได้แล้ววันนี้