
“ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย สันนิษฐานเบื้องต้น คาดว่ามี 3 สาเหตุการพังถล่มของคานสะพานพระราม 2 ล่าสุดอยู่ระหว่างตรวจสอบร่วมกับสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
จากเหตุการณ์พังถล่มของโครงสร้างระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 15 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุของการพังถล่มระหว่างก่อสร้าง
แต่เท่าที่ประเมินจากภาพถ่าย พบว่าเป็นการพังถล่มของคานขวาง (Cross Beam) ที่หัวเสา พังถล่มลงมาหลายช่วงต่อเนื่องกัน ซึ่งความยาวพาดช่วงถือว่ายาว (Long Span) สาเหตุที่พังถล่มยังไม่ทราบแน่ชัด
อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้น 3 ข้อคือ
1.กิจกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างการถล่ม น่าจะเป็นขั้นตอนการเทคอนกรีตคานขวาง หรือเป็นกิจกรรมใดที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อโครงสร้าง หากเป็นการเทคอนกรีตก็จะถือว่ามีน้ำหนักกระทำต่อโครงสร้างมาก ก็อาจเป็นสาเหตุให้ถล่มได้ หากโครงสร้างที่รองรับไม่แข็งแรงพอ
2.โครงถักเหล็กที่รองรับคานขวาง พังถล่มลงมาด้วย จึงต้องไปตรวจสอบกำลังรับน้ำหนักของโครงถักเหล็ก รวมทั้งรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนของโครงถักเหล็กว่าเพียงพอต่อการรับน้ำหนักหรือไม่ หรือมีการสูญเสียเสถียรภาพในการรับน้ำหนักได้อย่างไร
3.จุดยึดของโครงถักเหล็กกับเสาตอม่อ มีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่
“เป็น 3 ประเด็นที่ตั้งเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อน และจะต้องไปดูแบบก่อสร้าง การออกแบบ และขั้นตอนการทำงาน พร้อมทั้งรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่ามีความแข็งแรงได้มาตรฐานทางวิศวกรรมหรือไม่”
ทั้งนี้ จะต้องมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสาเหตุการพังถล่มในเชิงวิศวกรรมต่อไป และระงับการก่อสร้างไปก่อน จนกว่าจะได้สรุปผลการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง