แนะรัฐแก้ปัญหาไซต์ก่อสร้างถล่มที่ต้นตอ “ขึ้นทะเบียนรับเหมาช่วง”

นายกสมาคมวิศกรโครงสร้างฯเผยสาเหตุการถล่มของโครงสร้างระหว่างก่อสร้างของสะพานพระราม 2 เสนอแนะรัฐบาลด้วย 7 มาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขต้นตอ

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ถล่มของโครงสร้างระหว่างก่อสร้าง บนถนนพระราม 2 หลายครั้ง

นับแต่เกิดเหตุโครงเหล็ก (Launching Truss) พังถล่มลงมาด้านล่างพร้อมกับคานปูนขนาดใหญ่ (Precast Segment) จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย และบาดเจ็บหลายราย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567

จนถึงเหตุการณ์การถล่มของคานขวางระหว่างก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากเพราะเป็นการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ยังเต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าต่อคนงานหรือต่อประชาชนที่ต้องใช้ทางสัญจร

ปัญหารากเหง้าคือการก่อสร้างเป็นงานที่มีความซับซ้อนและต้องใช้วิศวกรรมระดับสูง ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับจะต้องมีความรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง และผู้รับเหมาจะต้องไม่ลดต้นทุนด้านความปลอดภัย

ADVERTISMENT

โดยสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ขอเสนอแนะ 7 มาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1.รัฐควรทบทวนมาตรฐานการทำงานของโครงการก่อสร้างอื่นทุกโครงการในปัจจุบัน ได้แก่ ขั้นตอนการปฏิบัติ ความแข็งแรงของวัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนผู้ทำงานต้องผ่านการอบรมทั้งในด้านความปลอดภัยและในด้านการปฏิบัติทางวิศวกรรม

ADVERTISMENT

อีกทั้งต้องเพิ่มความถี่และความเข้มข้นในการตรวจสอบการทำงานด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันที

2.รัฐควรออกกฎหมาย “การก่อสร้างควบคุม” หรือ “Controlled Construction” เพื่อควบคุมการก่อสร้างบางประเภทที่มีความซับซ้อน เช่น การก่อสร้างที่ใช้ระบบโครงเหล็กเลื่อนฯ

โดยกำหนดให้บุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่วิศวกร หัวหน้าคนงาน ตลอดจนคนงานที่ขึ้นไปปฏิบัติงาน จะต้องผ่านการอบรมทดสอบและได้รับใบอนุญาต/ใบรับรองจึงจะขึ้นไปปฏิบัติงานได้

3.รัฐควรกำกับการจ้างรับเหมาช่วง เนื่องจากการรับเหมาช่วงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้รับเหมารายใหญ่ที่แม้จะได้ขึ้นทะเบียนจากกรมบัญชีกลางก็ตาม แต่เมื่อไปจ้างช่วงแล้วจะทำให้สูญเสียการควบคุมในทางวิศวกรรม เพราะผู้รับเหมารายใหญ่ก็จะเลือกผู้รับเหมาช่วงราคาถูก ที่ไม่มีความรู้

ดังนั้นรัฐควรจัดให้มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาช่วง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนมารับงานได้

4.รัฐควรออกกฎหมายให้ครอบคลุมการทำงานของเครื่องจักรโครงเหล็กต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงเหล็กเลื่อนที่มีการเคลื่อนตัวจากจุดหนึ่งไปจุดอื่นเพื่อทำงานต่อไป จึงควรให้ความสำคัญอย่างมาก

และควรกำหนดมาตรการการใช้งานเครื่องจักรโครงเหล็กเลื่อนเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

5.รัฐควรกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างที่มีความซับซ้อน โดยแยกหมวดปริมาณงานด้านความปลอดภัย เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการคำนวณแบบระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง

เนื่องจากโครงการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนควรทำรูปแบบ แผนผัง รายการการคำนวณ ตลอดจนรายละเอียดในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างทุกขั้นตอนจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยไม่ควรผลักภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับผู้รับเหมา

6.รัฐควรกำหนดให้มีคนกลางเข้าร่วมตรวจสอบการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม เช่น กำหนดให้องค์กรวิชาชีพร่วมกับหน่วยงานของรัฐสุ่มตรวจการทำงานมีวิศวกรในการปฏิบัติงาน เครื่องจักรว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่

พร้อมทั้งกำหนดให้สถานที่ก่อสร้างต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกกิจกรรมการก่อสร้างไว้เป็นหลักฐานด้วย

และ 7.รัฐควรกำหนดมาตรการบทลงโทษผู้รับเหมาที่กระทำผิดอย่างจริงจัง