BMN ยัน ม.ค. 62 เมโทรมอลล์สถานีจตุจักร รีโนเวตเสร็จแน่ จัดทัพแบรนด์ดัง “ลอว์สัน-คาเฟ่อเมซอน-สตาร์บัคส์-กูร์เม่ต์” ดูดกำลังซื้อ คิวต่อไปปรุงโฉม “สถานีพหลโยธิน” รับสายสีเขียว วางแผนปีหน้าลุยเปิดเพิ่ม “ลาดพร้าว-รัชดา-ศูนย์ฯสิริกิติ์” ครบ 11 สถานีตามเป้า
นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าใต้ดิน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งรีโนเวทพื้นที่ค้าปลีก “เมโทรมอลล์” ในสถานีรถไฟฟ้า MRT จตุจักร คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2562 เบื้องต้นใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 30 ล้านบาท มีพื้นที่รวม 3,000 ตร.ม. แบ่งเป็นโซนของร้านค้า 2,000 ตร.ม. โดยจะนำร้านค้าแบรนด์ดังที่เป็นพันธมิตรมาร่วมเปิดให้บริการ ทั้งมินิมาร์ทลอว์สัน, ร้านกาแฟสตาร์บัคส์, คาเฟ่อเมซอน, ดังกิ้นโดนัท และกูร์เมต์มาร์เก็ต และอีก 1,000 ตร.ม. จะเป็นส่วนของที่นั่งพัก ห้องน้ำ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมอีเว้นท์
เมื่อเมโทรมอลล์ จตุจักร เปิดให้บริการช่วงต้นปี 2562 ต่อไปจะดำเนินการรีโนเวทเมโทรมอลล์ สถานีพหลโยธิน ขนาด 1,000 ตร.ม. เนื่องจากเป็นสถานีที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง อยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ติดกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว และห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์ อีกทั้งจะมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต – คูคต ซึ่งจะทำให้มีผู้ใช้บริการสถานีพหลโยธินมากขึ้นอีกมาก เบื้องต้นเล็งที่จะใช้โมเดลเมโทรมอลล์ สถานีเพชรบุรี ในการพัฒนา เพราะมีขนาดสถานีใกล้เคียงกัน
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า ในปี 2562 จะขยายสาขาเมโทรมอลล์เพิ่มอีก 3 แห่งให้ครบ 11 สถานีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้แก่ 1.สถานีลาดพร้าว เนื่องจากได้ผลตอบรับที่ดีจากการให้บริการของกูร์เม่ต์ มาร์เก็ต สาขาแรกในสถานีรถไฟฟ้า MRT จึงเห็นว่า ควรจะพัฒนาพื้นที่บริเวณเดียวกันให้เป็นเมโทรมอลล์ไปเลย
2.สถานีรัชดาภิเษก เนื่องจากในอนาคตบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ( มหาชน) หรือ BEM บริษัทแม่ของ BMN จะเปิดศูนย์อบรมพนักงานใหม่ อีกทั้งอัตราการเติบโตของผู้โดยสารที่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนมีจำนวนใช้งานสูงขึ้นด้วย
และ 3.สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ติดกับอาคารสำนักงาน FYI ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และโครงการมิกซ์ยูสอื่นๆอีกหลายโครงการที่กำลังก่อสร้าง จึงทำให้มีผู้โดยสารผ่านสถานีนี้สูงขึ้นในอนาคต โดยทั้ง 3 สถานีกำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่
ส่วนการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นนั้น เบื้องต้นให้ความสนใจในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนขยายช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทาง 14 กม. ที่จะเปิดให้บริการในปี 2562 เนื่องจากเป็นสายที่ BEM เป็นผู้ให้บริการเดินรถอยู่แล้ว ให้ความสนใจใน 4 สถานีใต้ดินก่อน คือ 1. สถานีวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) 2. สถานีสามยอด 3. สถานีสนามไชย และ 4. สถานีสามยอด ซึ่งแต่ละที่จัดทำแผนพัฒนาเบื้องต้นไว้แล้ว แต่รอให้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเปิดให้บริการก่อน จึงจะมีความชัดเจนมากกว่านี้