โอนแล้วคอนโด”แอชตันอโศก” รีเซล7ทอดดันราคาขยับ3.5แสน/ตร.ม.

ลูกค้าเฮ “แอชตัน อโศก” โอนได้แล้ว สำนักการโยธา กทม. เซ็นออกเอกสาร อ.6 เปิดใช้อาคารได้ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เผยลูกค้าขอคืนห้อง 20% 170 ยูนิต 1,500 ล้าน ส่วนกลุ่มลูกค้าลงทุนซื้อขายเปลี่ยนมือ 5-7 ทอด ดันราคาขยับจาก 2.5 แสน/ตร.ม. ขึ้นไปอยู่ที่ 2.8-3.5 แสน/ตร.ม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการแอชตัน อโศก กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากมีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อช่วงปลายปี 2560 อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าของโครงการคือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถโอนให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากติดปัญหาการพิจารณาเอกสารล่าช้าบางรายการ

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก” ที่อยู่ระหว่างยื่นขอออกเอกสารเปิดใช้อาคารหรือเอกสาร อ.6 หลังจาก กทม.ได้รับหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการอุทธรณ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยและทางสำนักการโยธาได้เซ็นหนังสือเอกสาร อ.6 เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางบริษัทอนันดาฯได้ทำ statement ชี้แจงและเผยแพร่เกี่ยวกับการโอนห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

“ตามที่มีข่าวว่าโครงการอาคารชุด Ashton Asoke ซึ่งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอนันดาฯ และบริษัท ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ในกลุ่มบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง) ประสบปัญหาไม่สามารถโอนห้องชุดให้แก่ลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุดได้ภายในเดือนมีนาคมปี 2561

โดยเหตุสำคัญสืบเนื่องจากกรณีที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธาไม่สามารถดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) ให้กับบริษัท แม้ว่าโครงการจะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปลายปี 2560 ด้วยอ้างเหตุที่มีการฟ้องคดีทางราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่อศาลปกครองกลางจำนวน 2 คดี (ซึ่งผู้ฟ้องไม่ได้ฟ้องบริษัท โดยบริษัทเพียงถูกศาลเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในภายหลัง) พร้อมทั้งอ้างเหตุปลีกย่อยอื่น เช่น พันธุ์ไม้ซึ่งปลูก ณ โครงการ และการติดตั้งป้ายบอกชั้นในห้องลิฟต์ดับเพลิงของโครงการ เป็นต้น

ต่อมาบริษัทได้อุทธรณ์คำสั่งของกรุงเทพมหานคร ผลคืบหน้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งและให้กรุงเทพมหานครดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ต่อมากรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) ให้แก่บริษัทและสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุด และออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดของโครงการให้กับบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทได้เริ่มโอนห้องชุดให้กับผู้จองซื้อบางรายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา”

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดเวลาก่อสร้างเสร็จและส่งมอบที่ระบุในสัญญาซื้อขายคือภายในวันที่ 26 มีนาคม 2561 ต่อมาเมื่อครบกำหนดเดดไลน์ แต่ไม่สามารถโอนห้องชุดได้ ทางเจ้าของโครงการมีออปชั่นให้ลูกค้าสามารถเลือกแนวทางรับดาวน์คืนพร้อมดอกเบี้ย, แลกห้องชุดกับโครงการอื่นในเครืออนันดาฯ หรือรอเวลาจนกว่าสามารถโอนได้

ซึ่งปรากฏว่ามีลูกค้าแสดงความจำนงขอคืนห้องชุด 20% หรือ 170 ยูนิตจาก 738 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าคืนห้องชุด 1,500 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท และทางบริษัทอนันดาฯ กำลังพิจารณานำกลับมาขายใหม่ (resale) ในขณะที่ราคาขายห้องชุดเมื่อตอนเริ่มต้นโครงการในปี 2558 เริ่ม 250,000 บาท/ตารางเมตร พบว่าระหว่างการก่อสร้าง 3 ปีมีการปรับราคาขึ้นตลอด และพบว่ามีการซื้อขายเปลี่ยนมือถึง 5-7 ทอดในกลุ่มซื้อลงทุนบางส่วน ทำให้ราคาปัจจุบันขยับไปอยู่ที่ 280,000-350,000 บาท/ตารางเมตร