AI BIM อสังหาสายล้ำ “ค่าย AP” ต้นแบบเทคโนโลยีออกแบบก่อสร้าง 7 มิติ

รับยุคดิจิทัล ค่ายอสังหาริมทรัพย์มหาชนในตลาดหลักทรัพย์ “บมจ.เอพี (ไทยแลนด์)” ชูธงสร้างจุดขายด้วยการนำ “AI BIM” หรือเทคโนโลยีออกแบบก่อสร้าง 7 มิติ มาปรับใช้กับการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมแบบครบวงจรรายแรกของประเทศไทย โดยมองไปถึงอนาคตด้วยว่า ขั้นตอนแบบก่อสร้างที่ต้องพึ่ง “พิมพ์เขียว” อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกต่อไป

 

5 เดือนแรกยอดพรีเซลทะลัก

อัพเดตผลประกอบการช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 เอพี (ไทยแลนด์) ประสบความสำเร็จจากยอดขาย (ยอดพรีเซล) ทะลุ 14,640 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44% ของเป้ายอดขายทั้งปีที่ตั้งไว้ 33,500 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่งรีวิวแผนลงทุนด้วยการเพิ่มจำนวนโครงการใหม่จาก 34 โครงการ เป็น 43 โครงการ มูลค่ารวมกัน 64,750 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าแนวราบ 38 โครงการ มูลค่า 39,350 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 5 โครงการ มูลค่า 25,400 ล้านบาท

ภายในสิ้นปีนี้หากเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ศักราช 2561 จะเป็นปีที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัท

หนึ่งในกลยุทธ์การแข่งขันเป็นเรื่องการชิงธงความเป็นผู้นำ “พร็อพเพอร์ตี้ เทคโนโลยี” หรือพร็อพเทค ล่าสุดทางเอพี (ไทยแลนด์) เลือกที่จะสื่อสารด้วยการหยิบยกสตอรี่จากไซต์ก่อสร้างมานำเสนอ เรากำลังพูดถึง “BIM-building infor-mation modeling” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการออกแบบก่อสร้างในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล

กล่าวสำหรับประเทศไทย BIM เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ยังไม่มากเท่าความนิยมแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ในฐานะเป็นตัวช่วยให้การออกแบบสิ่งก่อสร้าง สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต

“คุณมิ่ง-วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม เอพี (ไทยแลนด์) ระบุว่า ปีนี้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในธุรกิจสายคอนโดมิเนียม สิ่งหนึ่งที่พบคือมนุษย์คอนโดฯ หรือคนในยุคปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สิ่งที่เอพีกำลังพยายามทำมีเป้าหมายต้องการตอบโจทย์ในกระบวนการที่อยู่อาศัยในภาพรวม

“ความสำเร็จของนวัตกรรมอาจไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่อยู่ที่การสร้างกระบวนคิดเพื่อเข้าถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น ที่ผ่านมาเอพีนำแนวคิด STANFORD Design Thinking มาใช้ เพื่อค้นหาความต้องการแฝงของผู้บริโภคในอนาคต สำหรับพัฒนาสินค้าทั้งแนวราบและแนวสูงรองรับได้ตรงกับความต้องการ”

AI BIM รายแรกในเมืองไทย

หนึ่งในนวัตกรรมที่ proudly present จากการนำมาประยุกต์ใช้ในปีนี้ คือ เทคโนโลยี AI BIM (artificial intelligence building information modeling) หรือเทคโนโลยีการออกแบบงานก่อสร้างอาคารสูงอัจฉริยะ 7 มิติ

แน่นอนว่าไม่ใช่ BIM ธรรมดา แต่เป็น BIM ที่กลั่นกรองจากมันสมองและนวัตกรรม คิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดโดยตรง จึงมีความมั่นใจในการประกาศตัวเป็นผู้นำมาใช้ครบวงจรเป็นรายแรกของประเทศไทย

จุดเด่น AI BIM เป็นการยกระดับทั้งกระบวนการพัฒนาโครงการ เพิ่มความถูกต้อง ความแม่นยำ และคุณภาพงานก่อสร้าง นับตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การวางแผนงาน การคำนวณงบประมาณ

“ภายใต้ AI BIM เราจะเห็นตัวตึกตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบที่สามารถคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายออกมาได้เลย สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดผ่านหน้าจอไอแพดแบบไม่ต้องใช้พิมพ์เขียวอีกต่อไป ช่วยลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพทุกหน่วยงานสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จากข้อมูลที่ถูกอัพขึ้นระบบคลาวด์”

ภาพโครงการจากเทคโนโลยี AI BIM

มิติ 7 Facility Management

สำหรับเทคโนโลยี AI BIM 7 มิติ สาระสำคัญครอบคลุมกระบวนการเริ่มต้นจาก 3D-การออกแบบ (design and visualization), 4D-การวางแผนงาน (scheduling), 5D-การคำนวณงบประมาณ (cost control-ling), 6D-การวิเคราะห์การใช้พลังงานเพื่อการส่งมอบอาคารสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (energy analysis) และ 7D-การดูแลบริหารจัดการอาคารหลังการมอบ (facility management)

ข้อแตกต่างของ AI BIM อยู่ที่มิติที่ 7 ซึ่งครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการอาคาร (AI BIM for facility management) ที่จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการสืบค้นงานระบบและงานโครงสร้างทั้งหมด การใช้ประโยชน์ข้อมูลเป็นเรื่องการบำรุงรักษาตัวอาคารซึ่งเป็นช่วงส่งต่อหรือเป็นเนื้องานที่เรียกว่า “บริการหลังการขาย-after sale service” ส่งผลให้การบริหารจัดการอาคารทำได้สะดวกสบายและแม่นยำรวดเร็วยิ่งขึ้น

“เอพีมีความมุ่งมั่นเป็นผู้นำพร็อพเทคและผู้นำการใช้เทคโนโลยี AI BIM อย่างจริงจัง ตั้งเป้ายกเลิกการใช้การออกแบบ AutoCAD ภายในปีนี้ ขณะที่สถาปนิก ผู้รับเหมาต้องเข้าใจและใช้ AI BIM ให้เป็นอย่างลึกซึ้ง และในอนาคตพิมพ์เขียวอาจไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป”

ลุยเปิดพรีเซลครึ่งปีหลัง

นอกจากเทคโนโลยี AI BIM ที่เอพีจะนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ ช่วงที่ผ่านมา เอพีได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ตลอดเวลา อาทิ “Smart POD” ล็อกเกอร์อัจฉริยะ หรือ intelligent locker ทำให้ผู้ส่งและผู้รับสามารถเข้าถึงการใช้งานด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีนวัตกรรมการขายคอนโดฯ บนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่าน AP i-Booking, การติดตั้ง “AP Charging

POD” สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในคอนโดฯ ตอบสนองเทรนด์สังคมสีเขียวในอนาคต และเปิดตัวบริการ cashless payment ครั้งแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการใช้ QR code จองซื้อบ้าน เป็นต้น

“ครึ่งปีหลังเตรียมเปิดตัว 3 คอนโดฯ ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตทกรุ๊ป หรือ MECG มูลค่ารวม 20,400 ล้านบาท ไฮไลต์มีการเปิดตัวแบรนด์ลักเซอรี่ ดิแอดเดรส สยาม-ราชเทวี มูลค่า 8,300 ล้าน กับอีก 2 โครงการแบรนด์ไลฟ์ คือ ไลฟ์ ลาดพร้าว วัลเลย์ มูลค่า 6,400 ล้าน ตั้งเป้าเปิดพรีเซลเดือนสิงหาคมนี้ และไลฟ์ อโศก ไฮป์ มูลค่า 5,700 ล้านภายในไตรมาส 4/61”


แผนธุรกิจที่บริษัทคาดหวังจะเก็บเกี่ยวความสำเร็จด้านยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง โดยนำพร็อพเทคนานารูปแบบเติมความสุขให้กับลูกค้าหลังรับโอน ภายใต้แนวคิด “AP Design Trend for Quality Living-สร้างสรรค์อย่างไรให้โดนใจลูกค้า”