วีบียอนด์ผนึกจุฬาฯ เพาะ “ต้นกล้าวีบียอนด์” ป้อนนักศึกษาสู่มืออาชีพ

V Byond ร่วมกับจุฬา จัดหลักสูตรอบรมนักศึกษาสู่มืออาชีพ

“วีบียอนด์” ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ สร้างความยั่งยืนให้องค์กร พร้อมจับมือคณะวิศวะ จุฬาฯ ลงนาม MOU ผ่านโครงการ “ต้นกล้าวีบียอนด์” พัฒนานักศึกษาสู่การทำงานแบบมืออาชีพ

ดร.วรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ V Beyond เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้องค์กรผ่านโครงการ “ต้นกล้าวีบียอนด์”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ วีบียอนด์และรองศาสตราจารย์ ดร.นภดนัย อาชวาคม รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)

ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการ ระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ

โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้นักศึกษา ได้นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคต ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงภายในองค์กร นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ดำเนินการผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ การจัดกิจกรรมสัมมนา การอบรม และการจัดการเรียนการสอนร่วมกันกับโครงการ “ต้นกล้าวีบียอนด์” เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

ADVERTISMENT

รวมถึงการพัฒนาและจัดการหลักสูตรการศึกษา โดยร่วมกันออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งการสนับสนุนงานวิจัย ผ่านการใช้ทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ

รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในสาขาวิศวกรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการพัฒนาบุคลากรผ่านโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกงาน และการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงภายในองค์กร

ADVERTISMENT

เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ข้ามสาขาและขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและองค์กร ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและนักศึกษา

รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศต่อไป