Traffy Fondue รณรงค์ “ตรวจด้วยตนเองก่อนแจ้ง” พื้น/ฝ้า คาน เสา กำแพง

กทม.รณรงค์ ตรวจด้วยตนเองก่อนแจ้ง สำหรับประชาชนแจ้งผลกระทบแผ่นดินไหว

กทม. ปรับระบบ Traffy Fondue ตอบสนองความกังวลรอยร้าวอาคาร 5,500 เคส แนะขั้นตอนเบื้องต้น “ตรวจด้วยตนเองก่อนแจ้ง” สรุปตรวจแล้ว 155 แห่ง วันอาทิตย์ทำงานแข่งกับเวลา ตรวจเพิ่ม 165 แห่ง

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การเข้าตรวจความเสียหายและรอยร้าวของอาคารที่ได้เปิดรับการแจ้งร้องเรียนจากประชาชน

ล่าสุด ณ เวลา 00.30 น. ผลคืบหน้าดำเนินการตรวจโดยทีมวิศวกรจิตอาสา 130 ชีวิต ลุยตรวจอาคารแล้ว 155 แห่ง และวางแผนการทำงานวันอาทิตย์ 30 มีนาคม 2568 ตรวจเพิ่มอีก 165 แห่ง เพื่อความมั่นใจของทุกชีวิตในเมืองนี้

การเปิดรับแจ้งรอยร้าวและความเสียหายของอาคารจากประชาชนผ่าน Traffy fondue มีเคสแจ้งรอยร้าว หรือความเสียหายของตัวอาคารจากแรงแผ่นดินไหวเข้ามาเกิน 5,000 กว่าเคส เพราะประชาชนเริ่มตื่นตัว

ทั้งนี้ ปัญหาหลักคือในอาคารเดียวกันจะมีนิติบุคคลอาคารชุด หรือเจ้าของอาคารที่ต้องมีการตรวจประจําปีอยู่แล้ว ทางนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงสั่งการให้มีการตรวจอาคาร โดยเจ้าของอาคารที่สูงมากกว่า 8 ชั้น และเป็น 9 ประเภทที่ต้องมีการตรวจสอบประจําปีตามกฎหมายอยู่แล้ว

ให้รีบไปตรวจสอบอีกครั้งหลังจากแผ่นดินไหวโดยเร็วที่สุด แล้วให้รายงานมาทุกวัน ซึ่งตรงจุดนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้วิศวกรอาสา เพราะอาคารที่เกิน 8 ชั้น เราสามารถให้นิติบุคคลรับผิดชอบตรงนี้ได้

ADVERTISMENT

สำหรับแนวทางการตอบคำถามประชาชนที่ส่งเข้ามาเรื่องประเมินความเสียหายอาคาร ได้ประชุมกับทีมว่าประชาชนยังร้องเรียนได้เหมือนเดิม แต่แนวทางการตอบจะต้องชัดเจน

สำหรับอาคาร 8 ชั้นขึ้นไปจะแบ่งเป็น 3 เคส “เคสที่ 1” ถ้าเป็นผนังร้าวหรือสิ่งที่เห็นแล้วว่าไม่กระทบโครงสร้าง วิศวกรจะชี้แจงว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง สามารถเข้าอยู่ได้ และให้ปิดเรื่องเป็นเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแจ้งว่ากทม. ได้สั่งการไปแล้ว ตัวนิติบุคคลก็จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง

ADVERTISMENT

“เคสที่ 2” มีความก้ำกึ่ง เราจะมีการตอบไปเหมือนเหมือนเคสแรก แต่จะทดเรื่องไว้แล้วให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบ

“เคสที่” 3 ดูรูปแล้วเห็นเลยว่ากระทบโครงสร้างเข้าอยู่ไม่ได้ ก็จะตอบว่าอาศัยไม่ได้ จากนั้นทีมวิศวกรจะรีบเข้าไปอย่างเร็วที่สุดและจะแจ้งนิติบุคคลด้วย

สำหรับเคสบ้านที่ต่ำกว่า 8 ชั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้มีผลกระทบมาก หากประเมินแล้วว่าไม่เป็นไร วิศวกรจะตอบว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง ปิดเรื่องได้ แต่หากดูแล้วว่าอาจเป็นอันตราย วิศวกรอาสาในพื้นที่ก็จะลงไปตรวจ

ทั้งนี้ เนื่องจากมีประชาชนสนใจส่งเคสมาเยอะขึ้น ได้มีการจัดระเบียบการทำงาน โดยแบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีมที่มีใบ วย. หรือ วุฒิวิศวกรโยธา จะให้มาดูเคสยาก ส่วนอีกทีมจะดูเคสที่ไม่ยาก ตอนนี้ต้องรีบปิดเคสที่ส่งเข้ามากว่า 5,500 เคสแล้ว

รวมทั้งได้ตั้งทีมกลางจาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) คอยรับข้อมูลจากวิศวกรอาสาที่ลงพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้มี 2,000 กว่าเคสที่ส่งเข้ามา พิจารณาแล้วว่ามีประมาณ 700 เคส ที่ต้องลงไปดูอาคาร โดยจากการลงพื้นที่พบว่าบางครั้งหลาย ๆ เคส รวมแล้วเป็นตึกเดียวกัน

“ได้ยินเสียงชื่นชมจากประชาชนเข้ามามาก ถึงการจัดการรับเรื่องผ่านทาง Traffy fondue ของกทม. ต้องขอบคุณความร่วมมือจากวิศวกรจากหลากหลายที่ บ้านเราไม่ได้ขาดคนเก่ง เรารวบรวมวิศวกรจากหน่วยงานราชการมาหมด แต่เมื่อเกิดเหตุวิกฤตก็อาจไม่เพียงพอจึงมีวิศวกรอาสามาช่วย”

“ซึ่งรวมตัวกันมาได้รวดเร็วและร่วมทำงานหามรุ่งหามค่ำ รู้สึกดีใจที่วิชาชีพวิศวกรสามารถเป็นที่พึ่งและพร้อมช่วยเหลือประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้”

ทั้งนี้ แอป Traffy Fondue มีการรณรงค์ “ตรวจด้วยตนเองก่อนแจ้ง” สำหรับเป็นคู่มือประชาชนเบื้องต้น เพื่อช่วยคัดกรองจุดเสี่ยงจริง เว้นรอยร้าวเล็ก ๆ ที่ไม่กระทบ โครงสร้างหลัก เช่น เสา-คาน เพื่อให้ทีมวิศวกรอาสาเข้าตรวจอาคารที่อาจเป็นอันตรายได้ รวดเร็วและแม่นยำ ภายใต้กำลังคนที่มีจำกัด

โดยแนวทางการประเมินเบื้องต้นด้วยตนเอง ใน 4 ด้านหลัก คือ พื้น/ฝ้า, คาน, เสา และกำแพง คสล. โดยมีสีสัญลักษณื 3 ระดับความเสียหาย ดังนี้

“สีเขียว” หมายถึง ระดับความเสียหายที่ไม่เสียหาย หรือเสียหายเล็กน้อย สามารถเข้าใช้งานในอาคารได้

“สีเหลือง” หมายถึง เสียหายปานกลาง ควรตรวจสอบเพิ่มเติมโดยผู้เชี่ยวชาญ

“สีแดง” หมายถึง เสียหายมาก หรืออาจพังทลายลงมาได้ ห้ามเข้าใช้งานในอาคารโดยเด็ดขาด

เช่น “สีเหลือง” เมื่อรอยร้าวที่ไม่อันตราย (รอตรวจภายหลังได้) ได้แก่ ผนังร้าวแต่ยังมั่นคง ผลักแล้วไม่โยก, กระเบื้องพื้นร่อน สีหลุด, คานร้าวขนานใต้คาน, เสาร้าวเล็ก ๆ แต่ไม่โก่ง, ผ้าเพดานหลุดหรือเสียหาย

“สีแดง” รอยร้าวที่ควรแจ้งทันที (เสี่ยงอันตราย) ได้แก่ กำแพงเอน มีแนวโน้มพังล้ม, พื้นแอ่น เห็นเหล็กเสริม, คานร้าวเฉียง หรือปริจนเห็นเหล็ก, เสาโก่ง หรือคอนกรีตระเบิดจนเห็นเหล็ก เป็นต้น