จับเข่าคุยนายกคอนโด “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” อนาคตตึกสูงหลังแผ่นดินไหว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ยกหูคุยกับผู้บริหารที่น่าจะฮ็อตที่สุดอีกคนหนึ่งในสถานการณ์แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย

ต้องบอกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันศุกร์ 28 มีนาคม 2568 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่สหภาพพม่า แต่แรงสะเทือนส่งต่อระดับความไหวมาถึงกรุงเทพฯ เมืองที่มีตึกสูงทั้งประเภทตึกเตี้ย 8 ชั้น และตึกสูง 40-50 ชั้นหนาแน่นมากถึง 5,994 อาคาร

น่าสนใจมากที่สุดก็คือ แรงไหวของแผ่นดินขนาด 8.2 ริกเตอร์ ไม่สามารถสร้างความเสียหายรุนแรงจนทำให้ตึกถล่มได้แม้แต่ตึกเดียว ซึ่งตึกสูงในกรุงเทพฯ จำนวน 5,994 อาคารดังกล่าว เป็นตึกที่ก่อสร้างเสร็จและมีการใช้อาคารเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่มีข้อยกเว้นที่มีการถล่มพังลงมาของตึกที่กำลังก่อสร้างเพียง 1 ตึก ซึ่งเป็นตึกที่ออกแบบสูง 30 ชั้นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในอนาคตถ้าก่อสร้างเสร็จจะเป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ สตง.

ทิ้งปมให้ผู้เกี่ยวข้องต้องสะสางต่อไปว่า ตึกสร้างเสร็จและใช้อาคารกันหมดแล้วเกือบ 6,000 ตึก ไม่พังทลายแม้แต่ตึกเดียว เหตุไฉนตึกที่กำลังก่อสร้างของ สตง. ซึ่งมีผู้รับเหมาหลักจากจีนจึงถล่มพังทลายลงมาเพียงตึกเดียว

โจทย์วงการตึกสูง รวมทั้งตลาดคอนโดมิเนียมไทยที่ต้องเผชิญในปี 2568 จึงมีอย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1.ภาพตึกกำลังสร้างของ สตง.ถล่มพังราบ กลายเป็นช็อตเดียวที่ถูกสื่อสารออกไปทั่วโลก ทำลายภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในภาวะที่ไทยต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกำลังซื้อหลัก

ADVERTISMENT

กับ 2.จิตวิทยาผู้บริโภคที่เป็นผู้พักอาศัยในคอนโดฯ แน่นอนว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนอยากขายคอนโดทิ้ง เพราะยังตกใจไม่หาย

ดังนั้น ประเด็นการสัมภาษณ์ซี่งเกิดขึ้นในวันที่ 3 หลังเกิดแผ่นดินไหว จึงโฟกัสเพื่อร่วมกันเปิดมุมมองถึงอนาคตตลาดตึกสูงในไทยหลังเหตุแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ซึ่งมีทั้งคอนโดมิเนียม ออฟฟิศให้เช่า และโรงแรม

ADVERTISMENT

คำถาม 1 – สถานการณ์แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์

คีย์เวิร์ดคือโควิดพิสูจน์วงการแพทย์ไทย แผ่นดินไหวที่พม่า 8.2 ริกเตอร์พิสูจน์มาตรฐานวงการก่อสร้างตึกสูงไทย ว่าเรามีมาตรฐานความปลอดภัยอาคารอันดับต้นๆ ของโลก แม้แต่ตึกที่มีกระจกเยอะก็ยังไม่มีอะไรเสียหายเลย

แน่นอนว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ ตึกสูงอาจมีเรื่องความเสียหายวัสดุบ้าง งานตกแต่งบางส่วน เป็นเรื่องเข้าไปตรวจสอบแก้ไข ซ่อมแซม ก็จบแล้ว ถ้าวันที่ 28 มีนาคม ถ้ามีตึกทลายลงมา 2-3 ตึกเราก็ล่มจมทั้งประเทศแล้ว

แต่เป็นเพราะเราลงทุนกับเรื่องการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 วันนี้ออกดอกออกผล วันนี้เราต้องฉายภาพเรื่องนี้ออกไปสู่ต่างประเทศ เผลอๆ เราอาจจะส่งออกการก่อสร้างตึกสูงโดยคนไทยออกไปต่างประเทศ เพราะพิสูจน์แล้วว่าระบบมาตรฐานเมืองไทยเอาไปใช้ทั่วโลกได้ เพราะรองรับแผ่นดินไหวขนาดนี้ตึกไม่วิบัติ คุ้มกับการลงทุนระยะยาว

คำถาม 2 – ตลาดคอนโดปีนี้จะล่มสลายไหม

ไม่หรอก กลับตรงกันข้ามกัน ด้วยความตระหนกของคนที่มีการเห็นรอยร้าว มีวัสดุหลุดร่อนออกมา แต่อย่าลืมดูนะ ได้สติแล้วพบว่าบ้านเราไม่มีคนเสียชีวิตสักคนเดียว ด้วยความเป็นธรรม ไม่ได้เข้าข้างธุรกิจตัวเอง ไม่มีตึกไหนที่เปิดใช้อาคารแล้วมีคนเสียชีวิต

จึงเป็นการพิสูจน์ข้อกฎหมายและข้อบังคับกฎหมายก่อสร้างและควบคุมอาคารของไทย ที่มีโครงสร้างกฎหมายรองรับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2550 และถูกปฏิบัติมาด้วยความเข้มงวด

ซึ่งการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหว กฎหมายแม่ออกมาปี 2550 แล้วมีการแก้ไขปรับปรุงบางส่วนเล็กน้อย ในปี 2552 กับปี 2564 ซึ่งเป็นการปรับปรุงรายละเอียดปลีกย่อย เพราะหลักการของกฎหมายปี 2550 ก็เอาอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่การมีโครงสร้างกฎหมายรองรับระยะยาว

คำถาม 3 – สมาคมคอนโดฯ คุยกับสมาชิกและผู้ประกอบการยังไง

ทุกคนเทกแอกชันหมดแล้ว ไม่ว่าศุภาลัย แสนสิริ ออริจิ้นฯ อนันดาฯ ฯลฯ เทกเอกชันในการดูแล quick win ก่อนทุกโครงการ หลังจากนั้นก็เทกแอกชัน third party เข้าไปในสเต็ปที่ 2 เพื่อสร้างความเชื่อมั่น จัดให้มีที่ปรึกษาทางวิศวกรรมที่เป็นกลาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความเชื่อมั่นกลับมา

แต่วันนี้ต้องเอาความเดือดร้อนประชาชนเป็นที่ตั้งก่อน ให้เขาสามารถเข้าไปใช้ไปอยู่อาศัยในอาคารได้ก่อน และการดูแลเก็บวัสดุต่างๆ ที่หลุดร่อนออกมา ให้สภาพความเป็นอยู่มีความมั่นใจระดับหนึ่งก่อน เรียกว่าทำ quick win เข้าไปดูแลเพื่อให้พื้นที่ใช้งานได้ ระบบใช้งานได้

เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวระบบลิฟต์ตัดอัตโนมัติ ระบบน้ำ ระบบดับเพลิงอาจมีการหลุดรั่วได้ เพราะมีการ “ให้ตัว” (หรือโยก) ของอาคาร และอาจเชื่อมกับระบบอื่นๆ ฉะนั้น วันนี้เราต้องให้มี quick win เพื่อให้อาคารเปิดใช้ได้ก่อน ซึ่งทุกคนทำหมดเลย ทำหมดแล้ว ผู้ประกอบการ่วมกันทำหมดแล้ว

ส่วนเรื่องรอยร้าว ต้องใช้ทีมวิศวกรที่เป็นกลางเข้าไปดู วันนี้ทีมวิศวกรเบื้องต้นของบริษัทเข้าไปแล้ว อะไรที่ซีเรียสเบื้องต้นเราไม่ให้ใช้อยู่แล้ว แต่ถ้าอะไรที่ยังมีความกังวล ก็คงต้องเอาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในสเต็ปที่ 2

ตอนนี กทม. (กรุงเทพมหานคร) กับกรมโยธาธิการฯ (กระทรวงมหาดไทย) ก็ออกมาตรการตรวจสอบอาคารออกมา ส่วนบริษัทก็มีทีมวิศวกรตัวเองเข้าไปดุแลแล้ว รวมทั้งตึกเก่าๆ ที่หลุดจากการดูแลซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของผู้ประกอบการอีกเยอะ เพราะรายใหญ่ๆ เยอะ เป็นวิศวกรจิตอาสา เข้าไปตึกเหล่านั้นแหละ

โดยราชการ กทม. ผังเมือง สภาวิศวกร เป็นตัวกลางเข้าไปเช็กอัพโครงสร้างว่ามีความปลอดภัยระดับไหน ต้องมีการแก้ไขอย่างไร ซึ่งการแก้ไขเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด

คำถาม 4 – ตึกก่อนปี 2550 อยู่ยังไง ต้องทำยังไง

ก่อนปี 2550 เมื่อก่อนโชคดีที่บ้านเราตึกสูงมาบูมหลังปี 2550 ก่อนหน้านั้นไม่มีตึกสูงมากนัก สูงอย่างมาก 10-20 ชั้นเท่านั้นเอง ตึกที่สูงที่สุดตอนนั้นน่าจะโครงการไทยวา สาทร ซึ่งไม่มีปัญหาเลย

จะเห็นว่ากฎหมายต้านแผ่นดินไหวเราใช้ในปี 2550 แต่เรื่อง code of conduct (หลักปฏิบัติในการทำงาน) การก่อสร้างเราบังคับใช้ก่อนกฎหมายปี 2550 ออกมาอยู่แล้ว โดยที่กฎหมายปี 2550 ออกมาบังคับใช้เพื่อมา lean ไม่ให้หลุด code of conduct ในเรื่องแผ่นดินไหว

ตึกที่สร้างก่อนหน้า ก็มีความแข็งแรงเพียงพอ ถึงแม้กฎหมายออกมาในปี 2550 แต่ตึกที่สร้างก่อนหน้านั้นก็มีการดีไซน์ตึกให้แข็งแรงเยอะอยู่แล้ว ทำให้ไม่เกิดปัญหา และแผ่นดินไหววันนี้ก็พิสูจน์ว่าตึกที่สร้างก่อนปี 2550 ไม่มีปัญหา

ยกเว้นตึกเก่าๆ โบราณ อายุตึกนับร้อยๆ ปี ส่วนใหญ่ตึกศิลปวัฒนธรรมทั้งหลาย วันนี้โลกเปลี่ยน เช่น วัด พระพุทธรูปแตก โบราณสถานร้าว เพราะไม่ได้รองรับแผ่นดินไหวไว้ การแตกร้าวของโบราณสถาน คือสิ่งที่กรมศิลปากรต้องไปดูแล วัดวาอารามโบราณทั้งหลาย

ที่อยู่อาศัยไม่มีคอลแลปส์เลย จะมีบ้านเรือนใกล้ทางภาคเหนือทีคอลแลปส์ลงมาเล็กๆ น้อยๆ เหมือนบ้านที่พม่าลงมาก่อน เพราะสร้างจากเสาเข็มหกเหลี่ยมบ้าง ไม่ลงสาเข็มบ้าง แผ่นดินไหวรุนแรงก็พังลงมา ในขณะที่ตึกสูงมีโครงสร้างกฎหมายรองรับไว้หมดแล้ว

เพราะฉะนั้น กฎหมายแผ่นดินไหวไทยมีกฎกระทรวงรองรับแผ่นดินไหว แยกต่างหากเฉพาะ ถึงเรียกว่ามีโครงสร้างกฎหมายรองรับ ตอนจะเริ่มยุคตึกสูงบูม ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องนี้รองรับไว้หมดแล้ว

ที่สำคัญ มันสมองบ้านเรา ทรัพยากรมนุษย์บ้านเรา คนที่เก่งๆ อยู่ใน 2 อุตสาหกรรม คือวงการแพทย์กับวิศวกร นี่คือสิ่งที่เราโชคดี อินฟราสตรัคเจอร์ด้านฮิวแมนรีซอร์ซบ้านเราคือสองวงการนี้ ทำให้แม้เกิดแผ่นดินไหวที่เราไม่เคยเจอ วันนี้เราสอบผ่าน

คำถาม 5 – กฎหมายตึกสูงของเรารองรับได้กี่ริกเตอร์

จริงๆ คือ 7-8 ริกเตอร์ อยู่ที่ประมาณ 7 ริกเตอร์ในกรณีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใต้กรุงเทพฯ ด้วยนะ เพราะฉะนั้น เราอยู่ในทางผ่านแผ่นดินไหว ไม่ได้อยู่ใต้ศูนย์กลางถึงเอาอยู่ งวดนี้ถึงผ่าน stress test ได้ ไม่มีดีฟอลต์แม้แต่ตึกเดียว

สิ่งที่ต้องเห็นภาพเดียวกันคือ โอกาสจะเกิดอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งวันนี้ไทยผ่านจุดทดสอบที่ระดับ 8.2 ริกเตอร์แล้ว ตึกยังไงก็คงไม่วิบัติลงมา เพราะตึก “ให้ตัว” ก็ให้ตัวแล้ว ไม่วิบัติลงมา แต่การแตกร้าวก็คงจะเห็น

เหมือนไปวิ่งบนสายพานที่ชีพจรวิ่งไปจุดพีกสุดที่จะเหนื่อย เรียกว่า stress test ผ่านจุดนั้นไปแล้ว และยังไม่คอลแลปส์ลงมาด้วยนะ แสดงว่าไปได้ไกลกว่านี้ ถูกไหม แสดงว่ามาตรฐานกับเซกตี้แฟกเตอร์ก่อสร้างเราเอาอยู่

คำถาม 6 – คู่มือผู้ประกอบการที่จะรับมือหลังแผ่นดินไหว

ตอนนี้มีโครงสร้างในสัญญาจะซื้อจะขาย ในการรับประกันส่วนควบ 2 ปี กับรับประกันโครงสร้าง 5 ปี ในระยะสั้นตอนเริ่มส่งมอบ และระยะยาวมีระบบอินชัวรันส์อาคารสูงดูแลอยู่ในอันดับที่สอง เป็นไลฟ์ไทม์อินชัวรันส์ที่ต้องต่ออายุทุกปี

อีกเรื่อง สัญญาเงินกู้ของประชาชนมีการทำวินาศภัย ประกันภัยธรรมชาติพวกนี้ไว้ด้วย สองชั้น ทั้งตัวส่วนรวมอาคาร และแต่ละยูนิตที่มีการขอกู้ เป็นเงื่อนไขสถาบันการเงินอยู่แล้ว

กรณีลูกค้าซื้อสดก็มีประกันภัยตัวอาคารของนิติบุคคลอยู่แล้ว คนซื้อประกันตรงนั้น คัฟเวอร์หนี้ด้วย เพื่อไม่เป็นภาระหนี้ เขาแยกระหว่างสิ่งปลุกสร้างเพราะที่ดินไม่เสียหายอยู่แล้ว รับประกันความเสียหายสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีความเพียงพอ วันนี้กฎหมายอาคารชุดมีความแข็งแรง และมีมาตรฐาน มีโครงสร้างรองรับไว้หมดแล้ว

เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือมีกฎหมายรองรับเรื่องนิติบุคคลอาคารชุดทั้งหลาย ในการทำประกันภัย ทำให้สามารถมีค่าใช้จ่ายไปดูแลได้ เพราะเราจ่ายค่าเบี้ยประกันวินาศภัยกับประกันภัยธรรมชาติทุกปี ทุกอาคาร เป็นภาคบังคับตาม พรบ.นิติบุคคลอาคารชุด ทำให้ตึกที่อาจจะหลุดการดูแล หลุดการรับประกันของผู้ประกอบการ (ตามกฎหมาย) ก็ยังมีระบบพวกนี้รองรับ

ซี่งทำให้ส่วนกลางและห้องลูกค้ามีประกันรองรับ รวมถึงลูกค้าที่มีการจดจำนองรายห้อง ก็มีประกันรองรับอีกชั้นหนึ่ง รวมสองชั้นเลย เป็นโครงสร้างที่มีการวางไว้ โชคดีมาก ขณะที่บ้านจัดสรรไม่มีประกันนะ (ยิ้ม) ต้องดูแลตัวเอง แต่ตึกสูงมีประกันตามกฎหมายนิติบุคคล เพราะเป็นการใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน จึงเกิดมีประกันเป็นข้อบังคับใน พรบ.อาคารชุดทั้งหลาย

นี่คือตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง จนถึงการดูแลตึก มีโครงสร้างกฎหมายรองรับ นี่คือสิ่งที่มีกฎหมายรองรับและดูแลอยู่ ทำให้ระยะยาวปัญหาก็จะไม่มี เพราะสามารถเคลมประกันได้ ถึงแม้อาจจะไม่ 100% ในห้องชุดลูกค้าก็เคลมประกันได้ ประกันของนิติบุคคลรวมไปถึงห้องชุดลูกค้าด้วย

คำถาม 7 –คู่มือฉบับผู้บริโภครับมือแผ่นดินไหว

คิดว่าตอนนี้ทุกคนเข้าไปดูตรวจสอบทรัพย์สินตัวเอง และมีคนกลางเข้าไปตรวจสอบอาคารเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นตัวเองก่อน แต่ก็ต้องได้สติก่อน โชคดีที่ไม่เสียชีวิต แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ซี่งเราไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ คุณผ่านความเสียหายขนาดนี้มาได้โดยไม่ถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ ทรัพย์สินก็ยังอยู่ อาจมีความเสียหายบ้าง ส่วนมากผมมองว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้

วันนี้ผู้บริโภคเองต้องดีใจว่าผ่านเหตุการณ์นี้มาโดยเราไม่กระทบถึงขั้นชีวิต เทียบกับตึกในต่างประเทศ ถ้ามาตรฐานไม่ดีความเสสียหายจะคาดไม่ถึงมากกว่านี้ ผู้บริโภคต้องเข้าใจว่ามาตรฐานการก่อสร้างไทยคุ้มครองเราระดับหนึ่ง

และสำหรับผู้บริโภค เรื่องแรกคืออย่าละเลยการฝึกซ้อมหนีไฟและภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่ละอาคาร งวดนี้แต่ละอาคารมีการฝึกซ้อมตามกฎหมายทุกปีในทุกอาคาร ทุกคนจะรู้สึกรำคาญเรื่องการฝึกซ้อมหนีไฟ นี่คือบทพิสูจน์การซักซ้อมทุกปี จุดรวมพลต่างๆ สามารถคอนโทรลการเคลื่อนย้ายคนลงมาจากอาคารได้ดี ทำให้คนเห็นภาพมายืนบนถนนเต็มกรุงเทพมหานคร

ประกอบกับการสั่นไหวที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทำให้คนเดินลงมาตามแผนอพยพคน ได้โดยใช้เวลาไม่มากนัก

วันนี้ต้องร่วมกันสื่อสารเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นจุดแข็งของประเทศ เป็นความพร้อมของประเทศบ้าง อย่าไปเนกาตีฟประเทศมากนัก ภาพตึก สตง.ที่รับเหมาจีนสร้างถล่มลงมา จะทำให้เมืองไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลก เราต้องฉายภาพตึกสูงในกรุงเทพฯ ไม่มีแม้แต่ตึกเดียวที่พังทลาย

คำถาม 8 – ต่อไปต้องมีการเตือนภัยแผ่นดินไหวหรือไม่

ไม่หรอก ไม่มีใครรู้เรื่องแผ่นดินไหวล่วงหน้า จะรู้เมื่อรู้สึกถึงการไหว ช่วงนั้นหน้าที่ของรัฐบาลในการส่งข้อมูลให้รวดเร็วกว่านี้ แค่นั้นเอง ตอนเกิดเหตุการณ์ประขาชนเขาจับเวลากันเป็นนาที คนใช้ความรู้สึกและเดินลงจากตึก

ประเด็นคือทำ Quick Win ตรงนี้ก่อน ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าตึกเราไม่วิบัติ ประเทศไทยสอบผ่าน ไม่มีผลกระทบจาก 8.2 ริกเตอร์

เทียบสถานการณ์หลังแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์กับไทย จะเห็นภาพความเสียหายในระดับที่แตกต่างกัน ต้องนำความเชื่อมั่นกลับมาก่อน ถ้าไม่ปลดล็อกเรื่องความเชื่อมี่น พูดอะไรก็ไม่ฟังหรอกตอนนี้ คนแพนิก รอมู้ดผู้บริโภคก่อน ตัองรีบกลับไปดูความเป็นจริง

การแตกร้าวเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไมได้ เพราะดีไซน์ตึกถูกทำให้ตัวเพื่อจะได้ไม่คอลแลปส์ ความเสียหายแตกร้าวซ่อมแซมได้ แต่ตึกไม่เสียหายรุนแรงถึงขั้นวิบัติเลย ต้องตระหนักประเด็นนี้ก่อน เมื่อตระหนักแล้วจะทำให้ง่ายขึ้นเลย

คำถาม 9 – คนจะกล้าอยู่ตึกสูงอีกไหม

คิดว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก เหมือนกับปี 2554 ที่มีมหาอุทกภัย น้ำท่วมทาวน์เฮาส์ทำเลชานเมิอง กลุ่มลูกค้าบลูคอลลาร์ (มนุษย์เงินเดือน) เห็นน้ำท่วมบ้าน 2 เมตร ยังไม่มารับโอนบ้าน แต่หลังจากน้ำแห้ง มีรายได้ก็กลับมารับโอนทาวน์เฮาส์กันหมด เป็นรูปแบบที่เรียกว่า no choice cannot change

แผ่นดินไหวอาจกระตุกความรู้สึกคน 1-2 เดือน แต่โมเดล no choice cannot change เมื่อได้สติจะรู้ว่าการอยู่ตึกสูงปลอดภัย ไม่มีตึกถล่มลงมาแม้แต่ตึกเดียวแม้กระทั่งมีแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ แม้จะมีความเสียหายจากวัสดุตกแต่ง แต่โครงสร้างอาคารตึกสูงโปรเท็กต์ชีวิตคนได้ทั้งตึก น่าจะเป็นสิ่งที่ถ้าคนเริ่มหายตระหนก จะเริ่มเข้าใจขึ้น

ประเด็นคือโนวเลจเบสประเทศไทยอยู่ในสาขาแพทย์กับวิศวกรรม วิศวะโยธาบ้านเราเป็นอันดับหนึ่งในสมัยก่อน ตอนนี้เป็นวิศวะไอที ก่อนหน้านี้ใครเก่งที่สุดเข้าเรียนวิศวะโยธา อีกอาชีพคือสถาปนิก แบบต้องสวยและต้องแข็งแรง ผ่าน code of conduct ของวิศวกรด้วย ส่วนใหญ่ต้องผ่านความแข็งแรงของวิศวกร

คำถาม 10 – แผ่นดินไหวจะเป็นบวกหรือลบกับลูกค้าต่างชาติ

นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยกันในการคอมมิวนิเคชัน ภาพที่ออกไปเป็นภาพตึกถล่มของ สตง.ในต่างประเทศ สมาคมจึงต้องทำแถลงการณ์ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน แสดงข้อมูลว่าตึกไทยปลอดภัยจากแผ่นดินไหวทุกประการ เพราะตอนนี้มีแต่ภาพตึก สตง.ถล่มช็อตเดียวเลย CNN ก็เล่นแต่ภาพนี้ช็อตเดียวเลย
ต้องช่วยกันสื่อสารข้อเท็จจริงออกไป

ผลกระทบแผ่นดินไหววันนี้เป็นความสเสียหายเชิงไมเนอร์แดมเมจ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยก่อน ไม่มีเรื่องอยางนี้บ่อยๆ

วันนี้คนตกใจ ต้องให้คนหายตกใจก่อน คนไทยโชคดีมากๆ ที่กฎหมายมีมาตรฐานสูง คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในระยะยาว