
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วไป พร้อมกับคำถามด้านมาตรฐานความปลอดภัย แสนสิริร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับประเทศตลอดซัพพลายเชน เจาะลึกมาตรฐานงานก่อสร้างอาคารสูง มั่นใจการทำงานของผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย
ความปลอดภัยของลูกบ้าน คือสิ่งที่เราไม่สามารถประนีประนอมได้
นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกโครงการของแสนสิริผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด เริ่มตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการส่งมอบ มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน มีการสุ่มตรวจจากองค์กรภายนอก
โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า “ทุกโครงการของแสนสิริ” มีความแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด
เมื่อปี 2560 แสนสิริ ได้สนับสนุนสถาบันการศึกษาชั้นนำภาครัฐ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานเอกชนบริษัทผู้ร่วมออกแบบชั้นนำ 8 แห่ง ร่วมจัดทำ “แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูง”
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่วิศวกรที่ได้รับการว่าจ้างจากแสนสิริ ในการออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างและการตรวจสอบการคำนวณงานออกแบบดังกล่าวให้มีแนวทางในการปฏิบัติงานเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ผลของแรงแผ่นดินไหว แรงลม และการออกแบบฐานรากสำหรับอาคารสูงสอดคล้องตามมาตรฐานที่มีอยู่ในประเทศไทย และนำมาตรฐานในต่างประเทศมาอ้างอิงเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการรีวิวและปรับปรุงให้สอดคล้องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ด้านกระบวนการก่อสร้างโครงการของแสนสิริจะผ่านการตรวจสอบทุก ๆ ขั้นตอน โดยทีม Quality Control ตลอดจนกระบวนการทำงานประกอบไปด้วยภาคเอกชนที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ร่วมกันเช็กข้อมูลในแต่ละขั้นตอน เพื่อยืนยันว่าการออกแบบและก่อสร้างมีความแข็งแรงและปลอดภัย
สอดคล้องตามข้อบังคับอาคารตามกฎกระทรวงปี 2550 ว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร, มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่ถูกกำหนดโดยสภาวิศวกร
และมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง 1301/1302 ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างอาคารสูงของประเทศไทย
ทีมวิศวกรแสนสิริ และพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญ จะเร่งตรวจสอบคุณภาพจนครบทุกโครงการคอนโดมิเนียมที่เราพัฒนา เพื่อความอุ่นใจและสบายใจสูงสุด ปัจจุบันตรวจแล้ว 186 โครงการ (ข้อมูล ณ 3 เมษายน 2568)
มาตรฐานการทำงานที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป
ดร.วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงหัวใจการทำงานของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 41 ปี คือการคำนึงถึงความปลอดภัย แข็งแรง
มีระบบตรวจสอบ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 45001 (มาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย) และได้รับมาตรฐาน ISO 9001 (มาตรฐานบริหารงานคุณภาพระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพองค์กร)
บริษัทยังเป็นผู้รับเหมารายแรก ๆ ของไทย ที่นำ เทคโนโลยี BIM-Building Information Modeling มาใช้ในการก่อสร้าง และได้นำ Applications ต่าง ๆ มาช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
“มาตรฐานการก่อสร้างในหลักการ ต้องอยู่ที่การออกแบบงานที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมทั้งใช้วัสดุที่มีคุณภาพแข็งแรงปลอดภัยตามหลักวิชาการ ระบบการทำงานต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยทุกขั้นตอนในการทำงาน โดยต้องตรวจสอบการทำงานทั้งหมด และต้องสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้กับวิศวกร แรงงานก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทุกเวลา”
ส่วนการพัฒนานวัตกรรมที่อยากเห็นในวงการก่อสร้าง คือ การใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น ผนังน้ำหนักเบาโครงโลหะ ที่มีความแข็งแรงรับแรงและกันเสียงได้ดี
ซึ่งเมื่อเกิดการแตกร้าว อาทิ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่าผนังปูน พร้อมกับอยากเห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัย อย่างจริงจัง
วิศวกรไทยเก่งระดับโลก วงการก่อสร้างไทยมีมาตรฐานสูง
นายจารุวัตร จีระมานะพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีระธนา ก่อสร้าง จำกัด ให้ความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการก่อสร้างไทยว่า อาคารทุกอาคารที่ก่อสร้างหลังปี 2550 กฎหมายระบุให้มีมาตรฐานก่อสร้างรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดจะพบว่า โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง จะมีส่วนประกอบอาคารเสียหายบ้าง เช่น งานระบบ ผนัง ส่วนอาคารที่ถล่มลงมาต้องไปหาสาเหตุที่แท้จริง ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
“บริษัทจะทำทุกอย่างบนกระดาษ วิเคราะห์ก่อนทำงานจริง เวลาผิดพลาดจะผิดพลาดบนกระดาษสามารถแก้ไขได้ ไม่รอไปเจอปัญหาหน้างานแล้วค่อยแก้ เพราะความเสียหายจะสูงกว่ามาก มีการจัดลำดับการทำงานให้ถูกต้อง มีการอบรมพนักงานถึงข้อกำหนดคุณภาพงานให้ตรงกันทุก 6 เดือน”
“และอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำ AI มาใช้ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อสร้าง คนที่อยู่ในวงการนี้ต้องสู้กันด้วยวิชาการ เทคโนโลยี ความเร็ว และคุณภาพ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการก่อสร้างไทย”
“บริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ ไม่เอาเรื่องความปลอดภัยไปแลกกับชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือคนคุมงานก็ไม่เอาวิชาชีพไปแลกเพราะได้ไม่คุ้มเสีย กว่าที่แต่ละบริษัทจะได้รับใบอนุญาตมาแต่ละใบ ต้องผ่านการตรวจสอบหนัก ขณะที่วิศวกรไทยเก่งระดับโลก ผมเชื่อมั่นว่าภาพรวมการก่อสร้างของไทยมีมาตรฐานเพียงพอ”
Plan Do Check Action + ผู้ตรวจสอบบุคคลที่ 3
ด้าน นายวรินทร์ ศรีมหาโชตะ กรรมการบริหาร บริษัท คอนสตรัคชั่นไลนส์ จำกัด เป็นอีกบริษัทรับเหมาที่ทำงานร่วมกับแสนสิริ
ระบุว่า หัวใจของการทำงานด้านมาตรฐานก่อสร้างของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมานาน 35 ปี จะยึดหลักการ “Plan Do Check Action” และมีการบริหารจัดการภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 โดยบริษัทจะมีทีมวิศวกรระดับสามัญเป็นของตนเอง ในการตรวจสอบการทำงานของบริษัทเอง
“เราไม่ได้ก่อสร้างตามแบบก่อสร้างอย่างเดียว แต่เราจะดูว่าแบบที่ส่งมาให้ก่อสร้างนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าแบบไม่ถูกต้อง เราก็จะบอกไปทางเจ้าของโครงการถึงความกังวลของเรา ภายใต้หลักการทำงาน Plan Do Check Action จะเป็นการปิดความเสี่ยง เพราะเมื่อปัญหาขึ้นแล้ว เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้
การมีวินัยในกระบวนการทำงาน คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ต้องมีบุคคลที่สามตรวจสอบ
และการเลือกผู้รับเหมาที่ได้มาตรฐาน และยังเสนอแนะถึงนวัตกรรมก่อสร้างที่ควรนำมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยคือการลงทุนระบบ Formwork System หรือนั่งร้านอะลูมิเนียมที่มีระบบล็อกทั้งตัวตึกเข้าด้วยกัน ป้องกันการถล่มของนั่งร้าน ซึ่งบริษัทใช้นวัตกรรมนี้มากว่า 5 ปี”
ส่วนจุดที่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ควรพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เขาย้ำว่า ทุกโครงการก่อสร้างควรมีบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบ และทำทุกอย่างตามมาตรฐาน รวมถึง ต้องมีการทวน
สอบการออกแบบว่าแข็งแรงปลอดภัยดีหรือไม่
กรณีศึกษา ตึกถล่มในต่างประเทศ มาจากหลายสาเหตุ
นายกฤษฎา แท้ประสาทสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญงานอาคารสูง เกี่ยวกับแรงลมแผ่นดินไหว มีผลงานออกแบบ และการตรวจสอบอาคารที่มีปัญหา
โดยบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ในแง่มาตรฐานและคุณภาพงานออกแบบก่อสร้าง เห็นว่า ในกรณีของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมานั้น ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติค่อนข้างมาก เนื่องจากแม้อาคารรุ่นเก่าที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทย ยังไม่มีอาคารใดถล่มลงมา
ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า อาคารถล่มที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากสภาวะไม่ดีหลายอย่าง (Bad Conditions) มาประกอบกัน ที่ไม่สามารถนำมาเหมารวมอาคารที่เหลือทั้งหมดได้
เป็นกรณีศึกษาที่กรรมการตรวจสอบควรเปิดเผยความจริงทั้งหมดเพื่อให้วิศวกร ผู้ประกอบการ ผู้ควบคุมงาน รวมถึงผู้รับเหมา ได้เข้าใจว่าเหตุใดจึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้
ส่วนกรณีศึกษาอาคารถล่มในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุหลายอย่างรวมกัน มักไม่ใช่เรื่องเดียว บางเรื่องอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยคาดไม่ถึง เช่น จุดต่อจุดเดียวที่ทำไม่สมบูรณ์ พลาดแค่จุดนั้นจุดเดียว เมื่อนึกได้ก็คิดว่าไม่เป็นไร
แต่เมื่อผสมกับการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชั่นการใช้งานภายอาคาร การเปลี่ยนแปลงทางน้ำใต้ดิน ร่วมด้วย ทำให้อาคารถล่มอย่างคาดไม่ถึง คือ ถ้าขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็จะไม่ถล่ม
หลายครั้งจะเป็นทำนองนี้ แต่หากทำงานด้วยความระมัดระวังตั้งแต่ต้น จะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เลย
“การออกแบบที่ดี ต้องการผู้รับเหมาผู้ควบคุมงานที่ดี รวมทั้งเจ้าของโครงการที่เข้าใจสนับสนุน เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะพิสูจน์ผลงานของทั้งผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาร่วมกัน เราต้องเคารพในวิชาชีพ มีความรับผิดชอบและตั้งใจทำ ผลงานที่ดีจะสะท้อนเพอร์ฟอร์แมนซ์ของอาคาร
และขอฝากย้ำถึงภาคส่วนต่าง ๆ ในการรักษาคุณภาพมาตรฐานงานออกแบบ-ก่อสร้าง ว่า สิ่งที่ต้องคำนึงคือวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก และคอนกรีต ที่ได้มาตรฐานคุณภาพ โดยควรมีการสุ่มตรวจคุณภาพหน้างาน ไม่สุ่มตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เนื่องจากพบหลายกรณีวัสดุก่อสร้างหน้างานไม่ได้คุณภาพเท่ากับที่ตรวจในห้องปฏิบัติการ”
วัสดุก่อสร้างมาตรฐานสูง ได้รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม
นางจรรยา สว่างจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์ สตีล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายส่งวัสดุก่อสร้าง อีกหนึ่งพาร์ตเนอร์ของแสนสิริ
กล่าวถึงมาตรฐานการทำงานของบริษัทที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไปในอุตสาหกรรมว่าบริษัทได้คัดเลือกสินค้าในการจัดจำหน่าย โดยเน้นผู้ผลิตจากโรงงานไทยที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน และได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ด้านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพวัสดุ โดยเฉพาะเหล็กโครงสร้าง ทางโรงงานที่บริษัทลือกจำหน่าย จะมีการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าก่อนส่งมอบที่หน้างาน
และทางแสนสิริจะทดสอบเหล็กตัวอย่างจากสถาบันกลางเป็นรายไตรมาส ตาม TOR โดยมาตรฐานเหล็กในโครงการของแสนสิริ จะเป็นเหล็ก EF ที่ควบคุมคุณภาพการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ
“สินค้าเหล็กเส้นที่ทางบริษัทจำหน่ายให้กับแสนสิริ จะถูกผลิตด้วยกระบวนการ EF (Electronic Arc Furnace) ซึ่งเป็นกระบวนการหลอมเศษเหล็กด้วยวิธีการอาร์กด้วยไฟฟ้า
ซึ่งเหล็กเส้นจะสะอาดกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า วิธี IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเตาระบบเก่า ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้อย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม”
นวัตกรรม ตรวจจับแผ่นดินไหวในลิฟต์โดยสาร
นายเพ็ญไพสิฐ จันทร์พรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเน่ จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายลิฟต์ บันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น หัวใจสำคัญในการทำงานของบริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป คือ “ความรวดเร็วและความปลอดภัย” ในการบริหารสถานการณ์วิกฤต
จึงได้กำหนดแผนงานเร่งด่วน 3Rs ประกอบด้วย Recover (ฟื้นฟู), Repair (ซ่อมแซม) และ Rebuild (ปรับปรุงหรือสร้างใหม่) โดยได้ส่งทีมช่างและวิศวกรลงพื้นที่ทันที เพื่อให้ลิฟต์กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด โดยยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด
โดยบริษัทให้ความสำคัญกับทุก ๆ โครงการ รวมถึงโครงการของแสนสิริ โดยได้นำแผนงาน 3Rs มาใช้กับการปฏิบัติงานจริงจัง โดยเริ่มจาก Recover ฟื้นฟูลิฟต์อย่างน้อยหนึ่งตัวในอาคารให้สามารถใช้งานได้ภายใน 48 ชั่วโมงแรก
Repair ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก เปลี่ยนอุปกรณ์ และซ่อมแซมอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าลิฟต์โดยสารทุกตัวปลอดภัยสำหรับการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
และ Rebuild อัพเกรดและปรับปรุงลิฟต์โดยสาร เพื่อลดความเสียหายระยะยาวในอนาคต และเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรองรับฟังก์ชั่นการตรวจจับความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
ขณะที่นวัตกรรมด้านการก่อสร้างที่อยากเห็น นายเพ็ญไพสิฐระบุว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย ผู้ออกแบบหรือเจ้าของอาคารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันภัยที่จะเกิดจากสถานการณ์แผ่นดินไหว
ซึ่งบริษัทมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “เทคโนโลยีตรวจจับแผ่นดินไหวในลิฟต์โดยสาร” มาใช้ ซึ่งช่วยยกระดับความปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเซ็นเซอร์นี้จะตรวจจับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว และช่วยหยุดลิฟต์อัตโนมัติพร้อมกับเดินทางไปยังชั้นที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ผู้โดยสารออกจากลิฟต์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถทำได้ทั้งในอาคารก่อสร้างใหม่ และสามารถปรับปรุงลิฟต์โดยสารในโครงการที่มีอยู่เดิมเพื่อให้รองรับบริการนี้ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือ การการันตีมาตรฐานการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ของแสนสิริ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวหน้าของไทย ทั้งโครงการที่สร้างแล้วเสร็จ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการในอนาคต ว่ามีความปลอดภัยสูงสุดจากพาร์ตเนอร์ตลอดซัพพลายเชน