ตรวจอาคารหลังแผ่นดินไหว เช็กอย่างไรว่าปลอดภัยจริง ?

พลัสฯ แนะแนวทางการตรวจสอบอาคารเบื้องต้น

นายภคิน เอกอธิคม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้บริหารหลักของธุรกิจ “ทัช พร็อพเพอร์ตี้” บริการด้านระบบวิศวกรรมอาคารครบวงจรในเครือพลัสฯ

เปิดเผยว่า ขั้นตอนในการตรวจสอบอาคารหลังเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นไปตามคู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

ในการสำรวจความเสียหายสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ การสำรวจขั้นต้น และการสำรวจอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญในจุดที่อาจเกิดอันตรายกับโครงสร้างอาคาร มีรายละเอียด ดังนี้

ขั้นตอน 1 “การสำรวจขั้นต้น” เป็นการประเมินว่าความเสียหายที่พบมีผลกระทบต่อตัวอาคารหรือไม่

ซึ่งการเข้าตรวจประเมินขั้นต้นนี้ จะใช้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องวิศวกรรมโครงสร้าง อย่างบริษัทผู้ตรวจสอบอาคาร ที่ปกติจะมีการเข้าตรวจอาคารประจำปีให้กับอาคารอยู่แล้วมาเป็นผู้ตรวจให้

โดยบริษัทตรวจสอบอาคารมีการขึ้นทะเบียนรับรองโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว จะเป็นผู้เข้าตรวจพื้นที่ทันทีหลังเกิดเหตุ

ADVERTISMENT

ในขั้นต้นนี้สามารถสำรวจด้วยตาเปล่า (Visual Check) โดยจะตรวจดูความเสียหายของสภาพอาคารที่อาจส่งผลกระทบต่ออาคารที่กำลังประเมิน ความเสียหายเมื่อสังเกตจากภายนอกอาคาร และความเสียหายของโครงสร้างอาคาร ได้แก่ พื้น คาน เสา กำแพง โครงหลังคา ผนังก่อ ฝ้า เพดาน และวัสดุมุงหลังคา

การประเมินความเสียหายขั้นต้นของอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ ผู้ตรวจส่วนใหญ่ใช้แบบสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากแผ่นดินไหวของกรมโยธาฯ กระทรวงมหาดไทย ปี 2560 แบ่งระดับความเสียหายของอาคารเป็น 3 ระดับ

ADVERTISMENT

ได้แก่ 1.ระดับสีเขียว โครงสร้างอาคารมีความเสียหายเล็กน้อยหรือไม่มีความเสียหาย สามารถใช้งานได้ปกติ 2.ระดับสีเหลือง โครงสร้างอาคารมีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวังภัยจากเศษวัสดุร่วงหล่นจากชิ้นส่วนโครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคาร
และ 3.ระดับสีแดง โครงสร้างอาคารมีความเสียหายอย่างหนักและอาจเกิดการพังถล่มได้ หรืออาคารมีสภาพที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงไม่สามารถให้ใช้งานอาคารต่อไปได้

หากตรวจสอบขั้นต้นแล้วพบว่าอาคารอยู่ในระดับสีเขียว ก็สามารถให้ผู้คนกลับเข้าใช้งานอาคารได้ตามปกติ ส่วนระดับสีเหลือง สามารถกลับไปใช้งานอาคารได้ แต่อาจต้องมีการเฝ้าระวังและดำเนินการซ่อมแซมเร่งด่วนในจุดที่เกิดความเสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้อาคาร

แต่หากเข้าขั้นระดับสีแดง จะต้องปิดอาคารทันที งดผู้คนเข้าอาคารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาคารเสียรูป และสูญเสียประสิทธิภาพในการรับน้ำหนัก และต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นลำดับถัดไป

ขั้นตอน 2 “การสำรวจอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” จะดำเนินการเฉพาะกับอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้นแล้วพบว่ามีความเสียหาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากมีการใช้งานอาคารต่อไป (ระดับสีแดง)

หรือในบางอาคารที่ต้องการความเชื่อมั่นสูง ต้องมีการตรวจรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทำได้ โดยอาศัยวิศวกรในการประเมินความเสียหายของอาคารเป็นผู้ทำการสำรวจ เช่น วิศวกรโยธา เข้าสำรวจอย่างละเอียด ซึ่งจะมีความซับซ้อนและอาจต้องใช้เครื่องมือตรวจสอบขั้นสูงเพื่อประเมินสมรรถนะของตัวอาคาร

ทั้งนี้ เมื่อทราบผลการตรวจประเมินความเสียหายของอาคารแล้ว ก็จะต้องรายงานให้กับหน่วยราชการ ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานราชการท้องถิ่นมีการแจ้งหนังสือขอความร่วมมือเจ้าของอาคาร/ผู้ครอบครองอาคารให้ดำเนินการตรวจสอบอาคาร

และให้รายงานความเสียหาย พร้อมประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรงต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย

ส่วนนี้ก็เข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจ ถึงความโปร่งใส และเชื่อใจได้ในการตรวจสอบอาคาร

“ปัจจุบัน อาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้นในประเทศไทยแทบทั้งหมดอยู่ในระดับสีเขียวและสีเหลือง ซึ่งหมายความว่ายังสามารถใช้งานได้ภายใต้ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย กระบวนการตรวจสอบเบื้องต้นที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการรับรอง อาศัยการสังเกตทางกายภาพเป็นหลัก”

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“ภาพรวมอาคารของประเทศไทย สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ในเกณฑ์ดี ขณะที่มาตรการติดตามและซ่อมแซมอย่างเป็นขั้นตอน จะช่วยเสริมความมั่นใจให้ประชาชนว่าสามารถกลับมาใช้งานอาคารได้อย่างปลอดภัย ภายใต้หลักวิศวกรรมที่เหมาะสม” นายภคินกล่าว