สภาวิศวกรแจง “กรณีอาคาร สตง.ถล่ม กับบทบาทของสภาวิศวกร”

สภาวิศวกร แจงบทบาทกรณีตึก สตง.ถล่ม

ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และอาคารสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถล่มลงมานั้น สภาวิศวกรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทันทีที่ได้รับทราบเหตุ พร้อมช่วยเหลือให้คําแนะนํางานวิศวกรรม

โดยการทํางานร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมโยธาธิการและผังเมือง และวิศวกรอาสา ในการช่วยเหลือประชาชนและภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของอาคารที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 สภาวิศวกรได้ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) จัดตั้งและเปิด “กองอํานวยการร่วมตรวจอาคารหลังแผ่นดินไหว” เพื่อทวนสอบ ติดต่อประสานงานและให้ข้อเสนอแนะกับประชาชนและภาครัฐที่ได้รับผลกระทบ

โดยจะมีวิศวกรอาสาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประจําที่กองอํานวยการเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงวิศวกรรม 1 2 3 4

ผศ.ดร.ธเนศกล่าวต่อเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกรได้ดําเนินการอย่างเหมาะสมต่อบทบาทและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ดังนี้

1.ส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คําแนะนําทางวิชาการแก่หน่วยงานในการค้นหาผู้ประสบภัย เคลื่อนย้าย ซากอาคาร และรื้อถอนโครงสร้างที่เสียหายอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยคํานึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประสบภัย และประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเป็นสําคัญ

ADVERTISMENT

2.ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างเข้าร่วมทํางานกับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตามคําสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

เพื่อให้การค้นหาข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถใช้เป็นบทเรียนในการป้องกัน เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในอนาคต

3.แต่งตั้งคณะทํางานรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานภายใต้อํานาจหน้าที่ของสภาวิศวกรจากเหตุอาคารสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม รวมถึงสภาวิศวกรได้มีหนังสือถึงวิศวกรทุกรายที่ปรากฏชื่อในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เช่น สตง. บริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้า PKW บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) ในนามของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติวิชาชีพ บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบในโครงการดังกล่าว

โดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกนําไปพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้จากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา ดําเนินการทางจรรยาบรรณและการดําเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืนตามกฎหมายต่อไป

สภาวิศวกรขอยืนยันว่าจะดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กํากับดูแล และใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 เพื่อปกป้องเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ภาพลักษณ์ของสมาชิกสภาวิศวกร และสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคมต่อวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศไทยต่อไป