BTSเดี้ยง! คนปรับการเดินทางแห่ใช้ MRT-รถเมล์พุ่ง คมนาคมเผยรถไฟฟ้าใต้ดิน-สีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์ไร้คลื่นรบกวน

คมนาคมเปิดตัวเลขผู้ใช้ MRT-ขสมก. หลังวันที่บีทีเอสเดี้ยงติด 2 วัน พบคนใช้พุ่ง 10%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องจนมีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก กระทรวงคมนาคมไม่นิ่งนอนใจ ได้ประสานงานไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ให้อำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่เลือกเดินทางผ่านสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Interchange) 3 สถานี ได้แก่ 1.สวนจตุจักร 2.อโศก และ 3.สีลม

โดยข้อมูลจาก รฟม. ใน 2 วันที่ผ่านมามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% แยกเป็นวันจันทร์ที่ 25 มิ.ย. มีผู้โดยสารใช้บริการ 346,344 คน มากกว่าวันจันทร์ในเวลาปกติ 6 เดือนย้อนหลังที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 297,086 คน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% และวันอังคารที่ 27 มิ.ย. มีผู้โดยสารใช้บริการ 353,813 คน มากกว่าวันอังคารในเวลาปกติ 6 เดือนย้อนหลังที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 300,908 คน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18%

และประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้เพิ่มรถเมล์เข้ามาเสริม โดย 2 วันที่ผ่านมาเพิ่มเที่ยวรถจากเดิม 1,474 เที่ยวเป็น 1,542 เที่ยว โดยในช่วงสถานีสยาม-สำโรง ซึ่งมีปัญหามากที่สุด ได้เพิ่มจำนวนรถเมล์เข้ามาให้บริการ 33 คัน เป็น 244 คัน จากเดิมอยู่ที่ 210 คัน

ทำให้จำนวนผู้โดยสารใน 2 วันที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารที่ใช้บริการในวันจันทร์ที่ 25 มิ.ย. 96,567 คน เพิ่มจากวันจันทร์ที่ 18 มิ.ย.ที่มีผู้โดยสาร 86,274 คน คิดเป็น 11.9% และวันอังคารที่ 26 มิ.ย. มีผู้โดยสาร 95,279 คน เพิ่มจากวันอังคารที่ 19 มิ.ย. ที่มีผู้โดยสาร 87,316 คน คิดเป็น 9.12%

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เข้ามาดูแลระบบอาณัติสัญญาณในส่วนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังลงทุนอยู่ กสทช.กำหนดช่วงสัญญาณไว้แล้ว


นอกจากนี้ ยังไม่พบปัญหาคลื่นสัญญาณรบกวนในระบบรถไฟฟ้าอื่น เพราะแต่ละระบบมีการวางระบบป้องกันไว้แล้ว ระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบริษัทซีเมนต์ ติดตั้งระบบสื่อสารแบบเคเบิลใยแก้ว (Fiber Optic) ลงในไปในตัวราง ทำให้ไม่มีปัญหาคลื่นรบกวน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดียวกับบีทีเอสคือ “บอมบาดิเอร์” และได้ติดตั้งระบบสื่อสารแบบไวไฟ (Wifi) เช่นเดียวกัน แต่ได้ติดตั้งระบบป้องกันสัญญาณแบบ Fix Block ของบอมบาดิเอร์ไว้ด้วย ขณะที่แอร์พอร์ตเรลลิงค์มีระบบอาณัติสัญญาณของบริษัทซีเมนต์ และมีระบบสื่อสารแบบ Fiber Optic ฝังลงในราง แบบเดียวกับสายสีน้ำเงิน จึงไม่มีปัญหาเช่นกัน