
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ซึมพิษเศรษฐกิจ เอฟเฟ็กต์แผ่นดินไหว ภาษีทรัมป์ แห่ขายที่ดิน กดราคา 50% โซน EEC หยุดซื้อ
มติชนรายงาน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายวสันต์ คงจันทร์ อุปนายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากการที่สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการซื้อที่ดินและการลงทุนโครงการใหม่ โดยเฉพาะที่ดินในกรุงเทพฯสำหรับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่ปัจจุบันการซื้อขายไม่คึกคัก ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ขายทั้งที่เป็นแลนด์ลอร์ดและบริษัทอสังหาฯ ที่ต้องการขายทรัพย์สินเพื่อรักษากระแสเงินสด จึงนำออกมาประกาศ
ส่วนคนซื้อนั้นแทบไม่มี ทำให้ใครที่อยากขายจะถูกกดราคาที่ดิน ซึ่งในบางทำเลราคาลดลงมากถึง 50% เพราะคนที่ซื้อไปต้องรอ 2 ปีกว่าจะพัฒนาโครงการ เช่น โซนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายย่านท่าพระจากราคาเดิม 300,000 บาท/ตารางวา เหลือ 150,000 บาท/ตารางวา ย่านทองหล่อจากเดิม 2.5 ล้านบาท/ตารางวา ปัจจุบันลดเหลือ 2 ล้านบาท/ตารางวา ยังขายไม่ได้เลย แต่ถ้าลดเหลือ 1.5 ล้านบาทต่อ/ตารางวา ก็อาจจะมีคนสนใจซื้อ หรือที่ดินในซอยทองหล่อเดิมตั้งไว้ 1.5 ล้านบาท/ตารางวา มีต่อรองเหลือ 900,000 บาท/ตารางวา เป็นต้น
“ตอนนี้เกมเปลี่ยน จากคนที่ซื้อตอนนี้เป็นคนขายแล้ว จากตลาดอสังหาฯที่ไม่ดี โดยเฉพาะคอนโดฯที่เจอแผ่นดินไหว ทำให้ซึมหนักมากขึ้น ที่ดินเลยขายยาก และอำนาจต่อรองอยู่ที่ผู้ซื้อว่าอยากจะได้ราคาเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินภูเก็ตยังมีการซื้อขายและราคาปรับขึ้น เพราะการท่องเที่ยวยังดีและมีต่างชาติมาอยู่อาศัยมาก และต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 ส่วนอีอีซีราคาเริ่มนิ่ง หยุดซื้อขายหลังมีภาษีทรัมป์ เพราะก่อนหน้าราคาปรับขึ้นไปแล้วเท่าตัว เช่น ปลวกแดง พัฒนานิคม จังหวัดระยองจากไร่ละ 1 ล้านบาท เป็นไร่ละ 2-3 ล้านบาท” นายวสันต์กล่าว
นายวสันต์กล่าวว่า นอกจากนี้หลังการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว มีนักลงทุนต่างชาติ เช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนาม หาซื้อโรงแรมในไทยมากขึ้น ทั้งรูปแบบส่วนตัวและกองทุน โดยมีกำหนดทำเลที่ต้องการซื้อ คือ ภูเก็ต และกรุงเทพฯในโซนสุขุมวิท เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ขนาดประมาณ 200-300 ห้อง ที่ซื้อแล้วสามารถไปอัพเกรดเป็นโรงแรมลักเซอรี่ได้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนยุโรปจะซื้อระดับ 5 ดาว ล่าสุดมีผู้ประกอบการอสังหาฯที่เข้ามาทำธุรกิจโรงแรมเพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังตลาดอสังหาฯชะลอตัว มีนำโรงแรมออกมาขายเพื่อรักษากระแสเงินสดด้วยเช่นกัน เช่น โรงแรมในโซนสุขุมวิท เป็นต้น
นายพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอสังหาฯที่เข้ามาทำธุรกิจคลังสินค้าก่อนหน้านี้ แต่ไปต่อไม่ไหว ได้มีการนำโครงการมาเสนอขายให้บริษัท หลังตลาดอสังหาฯชะลอตัว แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาซื้อขายแต่อย่างใด
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากได้ปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและลูกค้าต่างชาติ ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยภูเก็ตเป็นบ้านหลังที่ 2 ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวระดับโลกเทียบชั้นฮาวายและดูไบไปแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้าไปพัฒนาโครงการรองรับดีมานด์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของแผนกวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1/2568 ในพื้นที่ภูเก็ต มีโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศเปิดขายใหม่มากกว่า 45 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 49,160 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2568 ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในจังหวัดภูเก็ต จะยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่อุปทานเปิดขายใหม่อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 ยูนิต เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีอุปทานเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดมากกว่า 20,000 ยูนิต ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง