“คอนโด” คู่แข่งเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

คอลัมน์ ดาต้าเบส

อีกหนึ่งสำนักวิจัยทั้งคนและองค์กร “จ๊อก-สุรเชษฐ กองชีพ” ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) นำเสนอผลสำรวจตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพมหานคร ณ ครึ่งปีแรก 2561พบว่า ซัพพลายมี 20,427 ยูนิตโดยปี2560 มียูนิตเปิดบริการใหม่ 1,000 ยูนิต ถือว่ามากเป็นสองเท่าของปี 2559 เน้นเจาะลูกค้าชาวต่างชาติทำงานในประเทศไทยหรือ expat ขนาดตลาดจึงค่อนข้างจำกัด

ด้านอัตราการเช่า (occupency rate) อยู่ที่ 86% ค่อนข้างนิ่ง ทำเลยอดนิยมสุขุมวิท ซอย 1-55 มียูนิตให้เช่ามากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 41% ของตลาดรวม

เสน่ห์ของการลงทุนเมื่อก่อสร้างและเปิดให้บริการแล้ว รอกระทั่งมีอัตราการเช่า 80-90% สามารถนำไปจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (real estate investment trust) หรือ REIT เท่ากับเป็นช่องทางและเป็นทางเลือกในการระดมทุนเพื่อนำมาเป็นกระแสเงินสดใช้สำหรับบริหารกิจการต่อไป

ในด้านผู้ประกอบการ แบ่งเป็นเจ้าของโครงการบริหารเอง (ไม่มีแบรนด์) 57% ต่างประเทศ 18% แบรนด์คนไทย 12% ที่น่าสนใจแบรนด์ไทยไปโตในต่างประเทศอีก 13% โดยเจ้าของไทยไปขยายตลาดต่างประเทศด้วยการลงทุนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์นี่เอง

เหลียวกลับมาดูในประเทศ สัดส่วนผู้เล่นต่างประเทศแทบไม่ขยับจาก 18% สาเหตุเพราะมีการแข่งขันสูงทั้งจากตลาดอพาร์ตเมนต์ระดับลักเซอรี่ รวมทั้งคอนโดมิเนียมปล่อยเช่า

Advertisment

ทั้งนี้ ทำเลสุขุมวิทซึ่งมีครบทั้ง “เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์-อพาร์ตเมนต์ลักเซอรี่-คอนโดฯ” จึงกลายเป็นทำเลแข่งขันสูงที่สุด เอกซเรย์ค่าเช่าแบบ 2 ห้องนอนในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อยู่ที่ 70,000-150,000 บาท/เดือน เทียบกับค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ลักเซอรี่ 70,000-80,000 บาท/เดือน และค่าเช่าคอนโดฯ อยู่ที่ 50,000-75,000 บาท/เดือน

ถึงแม้ว่าคอนโดฯ กับอพาร์ตเมนต์ลักเซอรี่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอาจด้อยกว่าบางรายการ แต่ลูกค้าต่างชาติมักเลือกราคาเป็นตัวตั้งเพราะถึงยังไงก็ได้อยู่บนทำเลเดียวกัน

Advertisment

จึงทำให้คอนโดฯ และอพาร์ตเมนต์ลักเซอรี่เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์