รถไฟรับลูก “พิชิต” ตั้งบริษัทลูกบริหารที่ดินทั่วประเทศ 2.3 แสนไร่ เร่งเปิดประมูล 3 แปลงใหญ่ใจกลางเมือง “มักกะสัน-แม่น้ำ-ย่าน กม.11” ดึงเอกชนร่วม PPP เช่ายาว 30-50 ปี สร้างรายได้เพิ่มปีละ 1 หมื่นล้าน ล้างขาดทุน ด้านไจก้าสนใจลุยมิกซ์ยูสสถานีไฮสปีดเทรนหนุนฮับอีอีซี
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ จำกัด โดย ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% เป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.มาบริหารที่ดินทั่วประเทศมีอยู่กว่า 2.3 แสนไร่ รวมถึงที่ดิน 3 แปลงใหญ่ใจกลางเมือง อย่างมักกะสัน 497 ไร่ สถานีแม่น้ำ 277 ไร่และย่าน กม.11 เนื้อที่ 359 ไร่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม จากปัจจุบันมีรายได้จากการจัดหาประโยชน์ที่ดิน 3 พันล้านบาท/ปีเป็น 1 หมื่นล้านบาท/ปี ล้างขาดทุนสะสมมีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท
“เป็นการปฏิรูปทรัพย์สินของรถไฟใหม่ทั้งค่าเช่าสัญญามีอยู่ 1.4 หมื่นสัญญาและนำมาจัดประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งจะทำงานเหมือนเอกชน จะคัดเลือกผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มาบริหารจัดการ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งรถไฟมีที่ดินทั่วประเทศอยู่มากกว่า 2.3 แสนไร่ ซึ่งมีที่ดินไม่ใช่การเดินรถมีอยู่ 39,428.97 ไร่ ในใจกลางเมืองและตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ปัจจุบันและทางคู่ในอนาคต เร่งสร้างรายได้โดยเร็ว”
สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่จะเปิดให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบ PPP มีจำนวน 11 แปลง ได้แก่ พื้นที่บางซื่อ (ย่านพหลโยธิน) จำนวน 2,325 ไร่, กม.11 จำนวน 359 ไร่, สถานีแม่น้ำ 277 ไร่, ขอนแก่น 56 ไร่, เชียงใหม่ 60 ไร่, สถานีหลักสี่ 7 ไร่ และศาลายา 16 ไร่ จะเร่งสถานีบางซื่อแปลง A จำนวน 35 ไร่มาพัฒนาก่อน ตอนนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP เปิดประมูล
“ที่ดินมักกะสัน รถไฟจะนำมาพัฒนาเอง ทางญี่ปุ่นโดยไจก้าหรือองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นสนใจจะพัฒนาลงทุนโครงการรับกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีก็อยากจะให้เร่งพัฒนาเพื่อเป็นฮับอีอีซียังไม่ชัดเจนจะนำไปรวมไว้กับสัมปทานลงทุนรถไฟความเร็วสูงหรือแยกประมูลจากเดิมอีอีซีมีข้อเสนอให้รวมไว้”
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า สำหรับสถานีแม่น้ำหลังทบทวนผลศึกษาใหม่ มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 13,317.24 ล้านบาท ส่วนมูลค่าก่อสร้างโครงการและสาธารณูปโภคอยู่ที่ 88,780 ล้านบาท จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนสัมปทาน 30 ปี
แบ่งการพัฒนา 5 พื้นที่ “โซน 1” 77.13 ไร่ เป็น Gateway Commercial Park พัฒนาพื้นที่รูปแบบมิกซ์ยูส มีพาณิชยกรรม ที่พักอาศัย และบริการ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน และอาคารพักอาศัยรวม “โซน 2” จะเป็นรูปแบบ Iconic Marina พื้นที่ 44 ไร่ สร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ติดแม่น้ำ และเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯประกอบด้วย โรงแรมระดับ 6 ดาว สำนักงาน ศูนย์ประชุม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า พาณิชยกรรม การแสดงสินค้า ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และท่าเทียบเรือสำราญขนาดกลาง
“โซน 3” เป็นรูปแบบ Cultural Promenade พื้นที่ 78.25 ไร่ ขนาดที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยา 900 เมตร อยู่ฝั่งตรงข้ามบางกระเจ้า การพัฒนาประกอบด้วย พาณิชยกรรมค้าปลีก ศูนย์กิจกรรมด้านบันเทิง การสร้างสรรค์ ร้านอาหาร ภัตตาคาร อาคารสำนักงาน และสถานที่บริการ “โซน 4” รูปแบบที่อยู่อาศัยริมน้ำ พื้นที่ 55.63 ไร่ อยู่ใจกลางโครงการ การพัฒนาประกอบด้วยคอนโดมิเนียม อาคารพักอาศัย
และ “โซน 5” พื้นที่ 22.5 ไร่ อยู่ริมคลองขุดด้านทิศเหนือ พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยรองรับกลุ่มชุมชนเดิม เป็นที่พักของพนักงาน บุคลากรของการรถไฟฯ เป็นย่านธุรกิจการค้าระดับชุมชน สินค้าหัตถกรรม สิ่งประดิษฐ์ ของขวัญของที่ระลึก ร้านอาหารตามแนวริมคลองขุด
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้