กะเทาะทุกประเด็น! “อธิป พีชานนท์” แรงงานก่อสร้างไทยใช้ต่างด้าวเกิน 80%

สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ถือว่าคลุกวงในสำหรับการร่วมประชุมหารือปรับปรุงกฎหมายแรงงานต่างด้าว”ประชาชาติธุรกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ “อธิป พีชานนท์” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่สวมหมวกหลายใบ โดยเป็นกรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย กะเทาะผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่มีต่อวงการอสังหาริมทรัพย์

Q : เอกชนรู้ตัวมาก่อนหรือไม่

ผมเป็นคณะทำงานด้วย แต่เรากำลังขอแก้ไขเพราะประกาศมาเร็วเกินไป เข้าใจว่าวัตถุประสงค์คืออะไร แต่ปัญหาในภาคการผลิตและภาคบริการในทางปฏิบัติ จะมีผลกระทบในวงกว้าง

ที่บอกว่าประกาศมาเร็วเกินไปคือมีผลบังคับเลย จริง ๆ ควรมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้มีเวลาปรับตัว กรณีนี้ ใครที่มีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ต้องหาที่จดทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ประกาศปั๊บ ล็อกคอจับเข้าคุกเลย โทษหนักมาก ค่าปรับ 4 แสน-8 แสนต่อคน จับเข้าคุกด้วย เยอะ (ถอนหายใจ)

เราทักท้วงไปแล้วในเรื่องบทลงโทษ กับเรื่องเหตุผลด้วยว่าการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกวันนี้ทำได้ง่ายไหม ถ้าจดทะเบียนไม่ง่าย ก็ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งการจดทะเบียน การนำเข้าแรงงาน

เรื่องที่ 2 คุ้มครองทั้ง 2 ฝั่งหรือเปล่า พ.ร.ก.ใหม่คุ้มครองแต่แรงงานต่างด้าว แต่ผู้ว่าจ้างไม่ได้คุ้มครอง เพราะเขามีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้างได้ เรานำเข้ามามีค่าดำเนินการต่อหัวตก 2 หมื่นกว่าบาท แต่ไม่คุ้มครองเรา (นายจ้าง) นอกจากนี้ยังมีโทษอีก แรงงานต่างด้าวย้ายต้องแจ้ง ถ้าไม่แจ้งเรามีผิดอีก

เรื่องที่ 3 เหตุผลย้าย (ที่ทำงาน) หรือที่เรียกว่าแรงงานข้ามเขตจะต้องมีขั้นตอนที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันทำได้ค่อนข้างจำกัด คือ ให้จดทะเบียนเหมือนเก็งข้อสอบว่าจะย้ายไปตรงไหนบ้าง ทำให้ไม่คล่องตัวเพราะแรงงานไม่เหมือนกัน กรณีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น ตัวโรงงานตั้งอยู่กับที่ แต่กรณีภาคประมงกับก่อสร้างต้องย้ายที่ เพราะจะทำที่เดิมมันไม่มีงานทำแล้ว เขาสร้างก็เสร็จแล้ว

งานบางประเภท เช่น ฉาบปูน ทาสี คนละประเภท ใช้คนเดียวกันทำงานแทนกันไม่ได้ งานกระเบื้อง วางท่อประปา งานทำถนน ไม่เหมือนกัน การโยกย้าย การเคลื่อนย้ายแรงงานยุ่งยากมาก โดนจับตลอด

การออกกฎระเบียบต้องดูด้วยว่า (เอกชน) ทำตามได้โดยสะดวกหรือเปล่า เพราะถ้ากฎหมายเปิดช่องจะทำให้ผู้ประกอบการเป็นเหยื่อของการถูกรังแก จริง ๆ ผมอยากใช้คำรุนแรงกว่านี้ คนรวยไม่ใช่ภาครัฐ แต่จะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่บางรายนำไปใช้ต่อรองในทางที่ไม่ถูกต้องได้

Q : ปัญหาเดิมมีอะไรบ้าง

เรื่องปริมาณแรงงานต่างด้าว ต้องจัดหาให้เหมาะสมกับประเภทของงาน ตอนนี้ต้องบอกว่าแรงงานไทยเข้าสู่ภาคก่อสร้าง ประมง เกษตรบางอย่างคนไทยไม่ทำแล้ว เลือกงานและไม่อยากทำงานบางประเภท ทั้งที่ก็ไม่มีจะกินแต่ก็ไม่ทำ ก็ไม่รู้จะทำยังไง จากการจัดหาแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสมมาทดแทนแรงงานไทย จะเกิดปัญหาอย่างนี้

คือรัฐก็ทำให้มีนายหน้าหรือตัวแทนไปจัดหาแรงงานต่างด้าวมา แทนที่รัฐจะเป็นคนไปเจรจาจัดหาประเทศที่สองและสาม ให้เหมาะสม จำนวนด้วย และมีการตกลงกับรัฐบาลประเทศคู่เจรจาในด้านกระบวนการ แต่กลายเป็นว่าแรงงานต่างด้าววันนี้เอกชนติดต่อเอง เมียนมา กัมพูชา ยังไม่มีความพร้อม ก็ยังขลุก ๆ ขลัก ๆ

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือการพิสูจน์สัญชาติ อย่างเมียนมา ชนกลุ่มน้อย รอ 4-5 เดือน ยังไม่ได้ ถามว่าเป็นปัญหาของใคร ผู้ประกอบการเอกชนหรือรัฐบาล ถ้าให้เอกชนแก้ปัญหา แก้ยังไง ในด้านผู้ประกอบการ ภาคเอกชนด้วยกันเองก็มีหลายจำนวนที่ไม่ได้มีอำนาจไปต่อรองกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านได้ รัฐบาลไทยจึงต้องเป็นคนไปจัดการ

ก็เหมือนกับเราส่งแรงงานขาออก ไปตะวันออกกลาง เกาหลี สมัยก่อนเราเป็นคนส่งออก ก็ต้องลอกเลียนแบบ ขั้นตอนทำยังไง ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่เรานำเข้าแรงงานเข้าประเทศ ต้องมีวิธีการทำยังไงให้มันสะดวก โปร่งใส ยุติธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย

จริง ๆ ปัญหาแรงงานต่างด้าวสามารถไปจัดการได้ ใช้วิธีศึกษากับทุกฝ่ายที่เคยทำมาก็ได้ แต่นี่เจตนาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำให้ยุ่งยาก ๆ เข้าไว้

ตอนที่ออกกฎหมายนี้มาเพราะต้องการออกจากลิสต์เรื่องค้ามนุษย์ที่ต่างประเทศกำหนดมา เจตนากฎหมายนี้ต้องการออกจากลิสต์นั้น แต่ผลกระทบทำให้กระทบรอบข้าง การออกจากค้ามนุษย์ต้องดูด้วย ไม่ใช่รัฐบาลอยากออกแล้วมีผลกระทบอะไรบ้าง ตอนนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ได้รับผลกระทบหมด เช่น คนรับใช้ที่บ้าน โดนจับปรับ 4-8 แสน มันเหนื่อย

กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว หมายความว่าวันนี้ พรุ่งนี้จับได้เลย จับไปก็เจอเพราะแรงงานต่างด้าวผมว่าครึ่งต่อครึ่งผิดกฎหมาย แล้วนี่จะจับนายจ้างด้วย เดือดร้อนตรงนี้ คนไม่มีทำงาน จะหนีแล้ว เราจะมีสภาพคล้าย ๆ เป็นอัมพาต ภาคธุรกิจจะเกิดอัมพาตเพราะขาดกำลังคนจริง ๆ

Q : แรงงานก่อสร้างมีแค่ไหน

ตอนนี้ต้องยอมรับแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทยแล้วที่เหลือเป็นระดับหัวสมองแรงงานเป็นคนลงมือทำ อย่างผมให้ไปแบกหินแบกปูน สร้างแทนก็ทำไม่ได้อีก เราน่าจะอยู่ในออฟฟิศ แต่คนทำเป็นแรงงานหรือต้องเป็นผู้รับเหมา

แรงงานก่อสร้างในภาคอสังหาฯ ตัวเลขไม่ชัดเจน เอาเป็นว่ากำลังคนในระบบ ผมว่าเกินกว่า 80% เป็นต่างด้าว ถ้าจำนวนนี้หายไป ผลกระทบก็มีเปอร์เซ็นต์ตามนั้น กำลังการผลิตก็จะลดลงตามส่วน ยังไม่นับผลกระทบในภาคอื่น ๆ ประมง เกษตร เช่น สวนยาง ฯลฯ อุตสาหกรรมบางส่วนก็ใช้แรงงานต่างด้าว

ถ้าคำนวณคร่าว ๆ แรงงานต่างด้าวเราใช้ 80% ครึ่งหนึ่งทำถูกต้อง อีกครึ่งหนึ่งผิดกฎหมาย เท่ากับมี 40% ของกำลังผลิตที่กระทบแน่ ๆ

Q : ประเมินผลกระทบยังไง

ภาคเอกชนเรารู้คอมเมอร์เชียลคอนเทนต์ เรารู้ข้อมูลทางด้านธุรกิจ พาณิชยกรรม แต่เราไม่รู้ regal content เราไม่รู้ในแง่มุมกฎหมายเลย ตอนประชุมมานั่งคุยกัน ผมยังบอกเลยตอนประชุมเราคุยคอมเมอร์เชียลคอนเทนต์ แล้วผู้รู้ของเขาไปแปลงเป็น regal content แต่นี่ก็จึ๊ก ๆ จั๊ก ๆ

ต้องยอมรับว่าภาคราชการเขามีธงมาอยู่แล้ว เขาต้องการจะออกจากลิสต์จากเทียร์ 2 เทียร์ 3 ก็ทำและเร่งออกมา อาจเป็นความต้องการของต่างประเทศ เพราะคุณดูค่าปรับเป็นอัตราของต่างประเทศ เช่น 4 แสนบาทเทียบเท่า 1 หมื่นยูโร เขาบอกว่าค่าปรับ (ไทย) ถูกมาก กฎหมายเลยไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่หารู้ไม่ว่า 4 แสนกว่าจะหาเงินได้ลูกจ้างอ้วกแตกเลย นายจ้างก็อ้วกแตกด้วย

ไม่ได้ดูเลยว่าประเทศไทยเงินเดือนยังไง ค่าแรงยังไง จะให้เสียค่าปรับอย่างนี้คนของเราต้องเงินเดือนเป็นแสนแล้ว เพราะฉะนั้น ประเมินจากค่าปรับทำให้รู้ว่าลอกตัวเลขมาเลย

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยไม่ได้มองมีวาระแอบแฝงด้วย เพราะอาจเป็นไปได้ว่าไม่ต้องการให้เรามีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตก็ได้ เพราะประเทศคู่แข่ง ไม่ว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ อาจไปล็อบบี้อเมริกา ยุโรป ใช้กฎเกณฑ์ค้ามนุษย์มาเตะตัดขาไทยก็ได้

ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่ในประเทศ แต่ทำให้เราเสียเปรียบเชิงการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat


ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้