BMN จัดคิวรีโนเวตสถานีจตุจักร-พหลปลุกลูกค้าช็อปมอลล์ใต้ดิน 11 แห่ง

เมโทรมอลล์ - ค้าปลีกใต้ดินที่ตลาดมีแนวโน้มโตวันโตคืน ล่าสุดอยู่ระหว่างลงทุนสถานีจตุจักร 30 ล้านบาท แบ่งพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรเป็นโซนร้านค้า ที่เหลือ 1,000 ตารางเมตรโซนกิจกรรม-ที่นั่งพัก-ห้องน้ำ ตั้งเป้าเปิดบริการเต็มรูปแบบต้นปีหน้า

BMN เร่งรีโนเวตพื้นที่ค้าปลีกรถไฟฟ้าใต้ดิน ต้นปีหน้าอวดโฉมใหม่สถานีจตุจักร จัดทัพแบรนด์ดัง “ลอว์สัน-คาเฟ่อเมซอน-สตาร์บัคส์-กูร์เมต์” ปลุกดูดกำลังซื้อ คิวต่อไปปรับโฉม “สถานีพหลโยธิน” รับสายสีเขียว วางแผนปีหน้าลุยเปิดเพิ่ม “ลาดพร้าว-รัชดาฯ-ศูนย์ฯสิริกิติ์” ครบ 11 สถานีตามเป้า

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) บริษัทในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) กล่าวว่า แผนธุรกิจในปีนี้ จะลงทุนรีโนเวตพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีของรถไฟฟ้าใต้ดินที่เปิดเป็น “เมโทรมอลล์” ไปแล้ว จำนวน 8 แห่ง

ล่าสุดกำลังรีโนเวตพื้นที่ค้า “เมโทรมอลล์” ในสถานีจตุจักร คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2562 เบื้องต้นใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท มีพื้นที่รวม 3,000 ตร.ม. แบ่งเป็นโซนของร้านค้า 2,000 ตร.ม. โดยจะนำร้านค้าแบรนด์ดังที่เป็นพันธมิตรมาร่วมเปิดให้บริการ ทั้งมินิมาร์ทลอว์สัน, ร้านกาแฟสตาร์บัคส์, คาเฟ่อเมซอน, ดังกิ้นโดนัท และกูร์เมต์มาร์เก็ต และอีก 1,000 ตร.ม.จะเป็นส่วนของที่นั่งพัก ห้องน้ำ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมอีเวนต์

“เมื่อเมโทรมอลล์ จตุจักร เปิดบริการช่วงต้นปีหน้า สถานีต่อไปที่จะรีโนเวต คือ เมโทรมอลล์ สถานีพหลโยธิน ขนาดพื้นที่ 1,000 ตร.ม. เนื่องจากเป็นสถานีที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง อยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ติดกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว และห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์ อีกทั้งจะมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต คาดว่าจะทำให้มีผู้ใช้บริการสถานีพหลโยธินมากขึ้น โดยจะใช้โมเดลสถานีเพชรบุรีในการพัฒนา เพราะมีขนาดสถานีใกล้เคียงกัน”

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับแผนในปี 2562 จะลงทุนเปิดสาขาเมโทรมอลล์เพิ่มอีก 3 แห่งที่เหลือ เพื่อให้ครบ 11 สถานีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้แก่ 1.สถานีลาดพร้าว เนื่องจากได้ผลตอบรับที่ดีจากการให้บริการของกูร์เมต์มาร์เก็ต สาขาแรกในสถานีรถไฟฟ้า MRT จึงเห็นว่าควรจะพัฒนาพื้นที่บริเวณเดียวกันให้เป็นเมโทรมอลล์ไปเลย

2.สถานีรัชดาภิเษก เนื่องจากในอนาคตบริษัท BEM บริษัทแม่ของ BMN จะเปิดศูนย์อบรมพนักงานใหม่ อีกทั้งอัตราการเติบโตของผู้โดยสารที่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนมีจำนวนใช้งานสูงขึ้นด้วยในสถานีนี้ และ 3.สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ติดกับอาคารสำนักงาน FYI ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และโครงการมิกซ์ยูสอื่น ๆ อีกหลายโครงการที่กำลังก่อสร้าง จึงทำให้มีผู้โดยสารผ่านสถานีนี้สูงขึ้นในอนาคต โดยทั้ง 3 สถานีกำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนการลงทุนเมโทรมอลล์ในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นนั้น เบื้องต้นให้ความสนใจรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะเปิดให้บริการในปี 2562 โดยเฉาะช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทาง 14 กม. เนื่องจากเป็นสายที่ BEM เป็นผู้ให้บริการเดินรถอยู่แล้ว

โดยพื้นที่สถานีที่จะพัฒนาเป็นเมโทรมอลล์ได้ มี 4 สถานีเป็นสถานีใต้ดิน คือ 1.สถานีวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) 2.สถานีสามยอด 3.สถานีสนามไชย และ 4.สถานีอิสรภาพ ซึ่งแต่ละที่จัดทำแผนพัฒนาเบื้องต้นไว้แล้ว แต่รอให้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเปิดให้บริการก่อนจึงจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ ขณะเดียวกันให้ความสนใจจะพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วงทั้ง 16 แห่งด้วยเช่นกัน