“ซิโน-ไทยฯ” กัดฟันลุยรัฐสภาใหม่ บุกลงทุนไฮสปีด-รถไฟฟ้าสารพัดสี

สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เนื้อหอมไม่แพ้เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของวงการ สำหรับเบอร์ 3 “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน”ด้วยชื่อชั้นและประสบการณ์ที่คว้างานก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายตุนไว้ในมือ จนงานในมือ (แบ็กล็อก) ทะลุ 1.2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ “ซิโน-ไทยฯ” ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ยังผันตัวเองเป็นผู้ลงทุนร่วมกับ “บีทีเอส-ราชบุรีโฮลดิ้ง” ในสัดส่วน 15% ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี ยังมองไกลไปถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่รัฐบาล คสช.กำลังจะสับเกียร์เปิดประมูล

“ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ฉายภาพงานบนหน้าตักและกระดานประมูลในครึ่งปี 2561 ที่เหลืออยู่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

Q : การประมูลงานภาครัฐในครึ่งปีหลัง

งานใหญ่ ๆ เราก็ติดตามอยู่ ส่วนงานเล็ก ๆ เราก็ร่วมยื่นประมูลเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท แต่ตัวหลัก ๆ ที่จะออกมาในปีนี้ ที่กำลังตามอยู่มีรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้แต่การประมูลระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนุบรี ก็เป็นโครงการที่เราให้ความสนใจอยู่แล้ว เราคาดว่าน่าจะมีโอกาสได้งานอยู่ประมาณ 25%

Q : รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองเริ่มก่อสร้างเต็มรูปแบบได้เมื่อไหร่

ถ้ากรมทางหลวงส่งมอบพื้นที่ได้ตามที่แจ้งไว้ (วันที่ 29 มิ.ย. 2561) ก็ไม่น่าจะมีปัญหา พร้อมที่จะเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที ขณะนี้ก็เริ่มเข้าไปดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคไปบ้างแล้ว

ตอนนี้เรื่องแผนการก่อสร้าง ยังวางแผนให้เสร็จตามกำหนดสัญญาภายในระยะเวลา 39 เดือน หรือ 3 ปี 3 เดือนนับจากวันที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน จะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2564

ส่วนเรื่องของอนาคตที่ว่าจะติดอะไรอีกหรือไม่ ต้องไปว่ากันอีกครั้ง แต่ตอนนี้ต้องคิดก่อนว่าไม่มีอุปสรรคอะไรแล้ว เราต้องทำให้เสร็จตามสัญญา

Q : มีปรับแแบบและตำแหน่งสถานีใหม่

ก็มีบ้างเพราะสายสีชมพูกับสีเหลืองเป็นระบบโมโนเรล จะต้องออกแบบและก่อสร้างไป หากติดพื้นที่ตรงไหนก็จะต้องปรับ ในเบื้องต้นต้องส่งรูปแบบตำแหน่งให้กรมทางหลวงและกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุมัติก่อน ที่ผ่านมาก็ได้ทยอยส่งไปแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร ผมว่าตำแหน่งสถานีคงไม่ขยับมากจนเป็นนัยสำคัญ

Q : ตั้งเป้าทั้งปีนี้จะได้งานใหม่ในมือเท่าไหร่

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้งานไปแล้วประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 3 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะได้ตามเป้า ที่เหลือขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการประมูล คาดว่างานโครงการใหญ่ของรัฐน่าจะประมูลได้ทันภายในปีนี้ แต่คงเซ็นสัญญาได้ในปีหน้า

Q : จะเข้าร่วมประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

แน่นอน ไปกับพันธมิตรเดิม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วยบีทีเอส ซิโน-ไทยและราชบุรีโฮลดิ้ง ส่วนจะมีใครมาเพิ่ม เช่น ปตท. บริษัทต่างชาติทั้งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และเอเชีย มีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ตอนนี้ยังไม่สรุป ขณะที่สัดส่วนการลงทุนคงดูเป็นรายโปรเจ็กต์ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับสีเหลืองเราลงไป 15%

แต่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่แน่นอน ต้องดูเงื่อนไขทีโออาร์ด้วย เพราะจะต้องจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ จะทำให้ไม่มีผลงานเลย ก็หารือกันอยู่ ยังไม่จบ จะต้องจบก่อนที่จะยื่นประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้

Q : ประเมินคู่แข่งในสนาม

เราไม่กลัวคู่แข่งเพราะเราก็มีศักยภาพ นอกจากว่าจะมีใครบ้ามาตัดราคา เพราะรู้สึกว่าเราค่อนข้างจะครบ มีทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าและผู้ประกอบการด้านธุรกิจพลังงาน ส่วนเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของบีทีเอส เรามั่นใจว่าด้านต้นทุนก่อสร้างเราจะได้เปรียบคู่แข่งต่างชาติ เพราะมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่จังหวัดชลบุรี และบริษัทต่างชาติยังไงก็ต้องมาจ้างรับเหมาก่อสร้างจากไทยอยู่แล้ว

ปัจจุบันมีเพียงประกาศเชิญชวนออกมา ซึ่งเป็นรายละเอียดคุณสมบัติเฉย ๆ ต้องมาดูรายละเอียดทีโออาร์ที่จะต้องซื้อมาศึกษาดูว่า จะต้องเลือกบริษัทซัพพลายเออร์ เลยหรือไม่ จะต้องบังคับให้จอยต์เลย ขึ้นอยู่กับทีโออาร์ว่ากำหนดหรือไม่ หรือทุกคนที่จะยื่นซองประมูลจะต้องซื้อเอกสารประกวดราคา ในราคา 1 ล้านบาทด้วยหรือเปล่า เราอยากให้ซื้อนะ จะได้รู้คู่แข่ง เราก็มีถามไปเหมือนกัน ความเห็นของเราคือ ให้ทุกรายมายื่นต้องซื้อซองด้วยนะ ไม่ใช่ไปเอาใครมาก็ได้

Q : งานในมือปีนี้

มีสายสีชมพูและสายสีเหลืองมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ปีที่แล้วได้สายสีส้มมา 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีแบ็กล็อกอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วได้ 1.06 แสนล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ใน 3-4 ปี เฉลี่ยปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปีหน้าคาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านบาท จากเดิมคิดว่าปีนี้จะถึง แต่สายสีชมพูกับสีเหลืองกว่าจะเข้าพื้นที่ เริ่มทำงานได้จริงในอีก 1 เดือน เหลือเวลา 5 เดือนจะถึงสิ้นปี เลยทำให้รายได้จะรับรู้อาจจะไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท เพราะรับรู้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าปีนี้จะมีรับรู้รายได้อยู่ 2.5 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 25% จากปีที่แล้วที่ได้ 2 หมื่นล้านบาท

Q : ปัญหาขาดทุน

บริษัทไม่มีขาดทุนแล้ว เพราะเราดีแคร์ไปเมื่อปีที่แล้วไปหมดแล้ว ไม่ว่าโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ที่เราตั้งสำรองขาดทุน 3,000 ล้านบาท ก็ดีแคร์ไปแล้ว

ขณะนี้กำลังจะยื่นฟ้องต่อศาลขอค่าชดเชยวงเงินประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข ซึ่งเราก็ทราบดีว่าการฟ้องรัฐกว่าจะรู้ผลใช้เวลา 10 ปี แต่เมื่อรายได้กลับมาปีไหนก็จะรับรู้ได้ทันที สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมามีกำไร

Q : เตรียมเทคโนโลยีก่อสร้าง

เนื่องจากชมพู เหลือง ต้องออกแบบและก่อสร้างไปด้วย รฟม.กำหนดรูปแบบมาเฉย ๆ เราจะผลิตชิ้นส่วนงานโครงสร้างจากข้างนอกแล้วมาประกอบที่ไซต์งาน แต่จะเสร็จเร็วกกว่า 39 เดือนได้หรือไม่ คาดว่าน่าจะยาก เพราะมีปัจจัยอื่น เช่น การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค สถานี เพราะขั้นตอนการก่อสร้างสถานีมีเยอะและจะใช้เวลานานกว่า

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างที่จังหวัดชลบุรี อ.ไทรน้อย และบางนาเป็นศูนย์เครื่องกล ที่ผ่านมาเราลงทุนไปมากพอสมควร ปีที่แล้วลงทุน 700-800 ล้านบาทซื้อเครื่องจักร ปีนี้คงจะลงทุนใกล้เคียงของเดิม มีแผนจะขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วน ป้อนสายสีชมพูกับเหลืองอีกหลาย 1,000 ท่อน

ขณะเดียวกันมีแลนด์แบงก์ตรงบางนา กม.4 เป็นที่ประกอบชิ้นงานเหล็กเก่า ตอนนี้ต้องปรับปรุงทำเป็นที่สต๊อก โรงหล่อเล็ก ที่ใหญ่ ๆอยู่ที่ไทรน้อย ที่ชลบุรีอยู่บ้านบึง ที่พร้อมจะหล่อเลยที่นนทบุรี ถ้าโชคดีได้ไฮสปีด จะรื้อฟื้นที่บ้านบึงมาเป็นโรงหล่อผลิต ส่วนที่ดินบางนาจะใช้ซัพพอร์ตงานก่อสร้างก่อน อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง