คลังบี้กทม.รับหนี้แสนล้าน ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว

แฟ้มภาพ

คลังบี้ กทม.รับหนี้สายสีเขียวส่วนต่อขยายแสนล้าน หลังสภา กทม.เล่นแง่ขอรับภาระแค่ค่างานระบบ 2.3 หมื่นล้าน “อัศวิน” หวั่นแผนรับโอนโครงการลากยาว ถกบีทีเอสรับสัมปทานไม่จบ เคาะค่าโดยสารไม่ลงตัว ขอ รฟม.เดินรถ “ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ” ให้ทัน ธ.ค.นี้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.กำลังทำรายละเอียดเสนอที่ประชุมสภา กทม.ขอมติรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง ได้แก่ แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 111,175.20 ล้านบาท จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบเดินรถให้ต่อเนื่องกันทั้งโครงข่าย

ส.ค.ลุ้นสภา กทม.ไฟเขียว

“ส.ค.นี้ จะเสนอสภา กทม.พิจารณาให้ได้ข้อยุติ แม้จะยุ่งยากมาก แต่พยายามทำทุกอย่างแล้ว รวมถึงให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานส่วนต่อขยายและรับภาระหนี้ทั้งหมดแทน เพราะปี 2563 ต้องเริ่มจ่ายค่างานระบบกว่า 2 หมื่นล้านบาท วิธีนี้จะทำให้ กทม.ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย ขณะที่เอกชนจะมีรายได้จากค่าโดยสารคืนหนี้รัฐ เราเสนอว่า เมื่อรับโอนหนี้ไปแล้วต้องเก็บค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท เอกชนคัดค้านว่าทำไม่ได้ เพราะจะขาดทุนหนัก”

ส่วนการหาแหล่งเงินชำระหนี้ รฟม. ได้ร่างข้อบัญญัติให้กระทรวงการคลังเป็นกู้เงิน ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน เพราะใช้เงินกู้สูง 7 หมื่นล้านบาท หาก กทม.กู้เองดอกเบี้ยจะสูง กระทรวงการคลังกู้จะเสียดอกเบี้ยน้อยกว่า แต่ต้องผ่านการพิจารณาหลายหน่วยงาน ทั้ง ครม. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) น่าจะใช้เวลา 5-6 เดือน และอาจจะลากยาวถึงปี 2562

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า การรับโอนโครงการล่าช้า เพราะสภา กทม.มองว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่เกินขีดความสามารถของ กทม. ซึ่งมีงบประมาณ 79,047 ล้านบาท จึงให้ กทม.รับภาระเฉพาะงานระบบกว่า 23,000 ล้านบาท ส่วนงานโยธา 66,831 ล้านบาท ให้รัฐรับภาระ

เจรจา รฟม.ขอใช้สิทธิเดินรถ

และแม้การรับโอนโครงการอาจยังไม่มีข้อยุติ แต่จะหารือ รฟม.ขอสิทธิให้ กทม.เดินรถสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้ทันต้นเดือน ธ.ค.นี้ เพราะงานโครงสร้างเสร็จหมดแล้ว ส่วนช่วงหมอชิต-คูคต งานก่อสร้างจะเสร็จปี 2562

ขณะเดียวกัน กทม.ได้เจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้รับสัมปทานและรับจ้างเดินรถบีทีเอส ให้หาแนวทางหาเงินมาชำระคืนให้ รฟม. ซึ่งบีทีเอสยินดีจะรับภาระหนี้และหาเงินทุนให้ แต่รัฐต้องเป็นคนกู้เงิน

ส่วนนโยบายผู้ว่าฯ กทม.จะเก็บค่าโดยสารบีทีเอสทั้งโครงข่ายตามระยะทาง และมีค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว อัตราเริ่มต้น 16 บาท และสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ถือเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขการเจรจากับบีทีเอส เพราะรายได้จากค่าโดยสารที่เก็บได้จะต้องนำไปจ่ายหนี้รัฐ ตามผลศึกษาอัตราสูงสุดอยู่ที่ 146 บาท แต่ กทม.มองว่าแพงเกินไป

คลังชี้ กทม.ต้องรับหนี้ทั้งหมด

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บจ. กรุงเทพธนาคม (KT) วิสาหกิจของ กทม. กล่าวว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ทำหนังสือแจ้ง กทม.แล้วว่า การที่รัฐซับซิดี้ค่างานโยธาให้ รฟม. จะเป็นเพียงหาแหล่งเงินกู้ให้ ส่วนค่าก่อสร้าง รฟม.นำรายได้ของ รฟม.มาชำระเอง ดังนั้น กทม.อาจต้องรับภาระหนี้ของสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งหมดเอง ซึ่งต้องเสนอสภา กทม.พิจารณาออกข้อบัญญัติการกู้เงินต่อไป

“อีกทางหนึ่งคือ กทม.เจรจาบีทีเอสหาเงินชำระหนี้ให้ กำลังทำไฟแนนเชียลโมเดลที่เหมาะสม มีอยู่ 2 โมเดล 1.รูปแบบสัมปทานเดียว บีทีเอสต้องรับหนี้และความเสี่ยงทั้งหมด 2.จ้างบีทีเอสเดินรถ โดยให้ กทม.รับภาระหนี้เอง แต่อาจต้องรอสัมปทานเก่าหมดปี 2572”

ยังไม่เคาะค่าโดยสาร 65 บาท 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า บริษัทได้รับแจ้งจาก กทม.ให้หาแนวทางการชำระหนี้สายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างศึกษาโมเดล เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกผ่าย ทั้งบีทีเอส กทม.และผู้ใช้บริการ

โดย กทม.มีแนวคิดจะรวมสัมปทานเดิมเข้ากับส่วนต่อขยายใหม่เป็นสัมปทานเดียวกันทั้งหมด และเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว และอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท แต่อาจทำไม่ได้ และต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ภาระหนี้ที่บีทีเอสต้องรับผิดชอบ ปริมาณผู้โดยสาร เป็นต้น

กสทช.จี้ กทม.แก้ระบบเสียบ่อย

ด้านความคืบหน้าการแก้ปัญหาระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 2 ก.ค. 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าจากการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนของ BTS และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบอาณัติสัญญาณที่ BTS ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2552 และกำลังปรับเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ โดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันการถูกรบกวน กทม.ในฐานะผู้กำกับดูแล จึงสมควรดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และกำชับให้บริษัทแก้ไขให้การติดต่อสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ ไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก