BTS ทอดสะพานซีพี-เซ็นทรัล ฮั้วลงทุนมิกซ์ยูสไฮสปีดอีอีซี

ไฮสปีดอีอีซี 2.2 แสนล้านคึกคัก ทั่วโลกแห่ซื้อซองประมูลถึง 23 บริษัท ทุนใหญ่เจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนฝุ่นตลบ “คีรี กาญจนพาสน์” เปิดกว้างทอดสะพาน “เจ้าสัวซีพี-เซ็นทรัล” ลงขันแจ้งเกิดเมกะโปรเจ็กต์แห่งชาติ ลุยมิกซ์ยูส 4 หมื่นล้าน ดันมักกะสันฮับค้าปลีก “อิตาเลียนไทย-ทีพีไอ”เดินสายวุ่น

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 9 ก.ค.นี้จะปิดขายเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท คาดมีผู้สนใจ 20-25 ราย หลังเปิดขาย 18 มิ.ย.-6 ก.ค. 2561 มีนักลงทุนไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซื้อ 23 ราย

ซื้อซองเกิน 20 ราย

ได้แก่ 1.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) 2.บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (เครือซีพี) 3.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 4 บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 5 บจ.เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (เครือ ปตท.) 6.บจ.อีโตชู คอร์ปอเรชั่น 7.บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอร์เรชั่น 8.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น 9.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 10.บจ.ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น11.บมจ.ช.การช่าง 12.บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอร์เรชั่น 13.บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 14.บมจ.ทีพีไอ โพลีน 15.บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป 16.บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น คัมปะนี 17.บจ.ไชน่า รีซอร์ส (โฮลดิ้งส์) คัมปะนี 18.บจ.ซิติกกรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น19.บจ.โคเรีย-ไทย-ไฮสปีด เรลโรด คอนซอร์เตี้ยม และ 20. บจ.เทอดดำริ 21 Salini Impregio S.P.A จากประเทศอิตาลี 22.บจ.ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) และ 23.TRANSDEV GROUP จากฝรั่งเศส ซึ่งจะยื่นประมูลวันที่ 12 พ.ย. 2561

“คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 3-4 ราย เช่น กลุ่มซีพี บีทีเอส แต่ละกลุ่มน่าจะร่วมกันหลายบริษัท เพราะโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง ไม่ได้มีแค่รถไฟความเร็วสูง ยังมีการพัฒนาสถานีมักกะสันและศรีราชา ส่วนผู้รับเหมาน่าจะใช้หลายบริษัท เพราะระยะทาง 220 กม. ต้องเสร็จใน 5 ปี”

ขาใหญ่เจรจาฝุ่นตลบ

ขณะนี้ผู้ซื้อซองกำลังเจรจาร่วมทุนกัน เพื่อจัดตั้งเป็นกิจการร่วมค้า ยังไม่มีอะไรนิ่ง ทุกอย่างเปลี่ยนได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นซีพี บีทีเอส ช.การช่าง ปตท. แต่น่าจะมียื่นประมูลเกิน 2 รายอย่างน้อยมีกลุ่มซีพีร่วมกับอีโตชู ซิติกและรัฐวิสาหกิจจีน เช่น ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่นฯ และกลุ่มบีทีเอส หรือทั้งซีพีและบีทีเอสอาจร่วมทุนกัน ถ้าเจรจาลงตัว ส่วน ช.การช่างมี BEM บริษัทในเครือกำลังหาพันธมิตรเพิ่มทั้งไทยและต่างชาติ

คีรีเปิดกว้างพันธมิตร

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า บีทีเอสและพันธมิตรคือซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งในนามกิจการร่วมค้า BSR สนใจเข้าร่วมประมูลเหมือนเดิม กำลังศึกษารายละเอียดทีโออาร์ เนื่องจากเป็นระบบใหม่ เส้นทางใหม่ ใช้เงินลงทุนสูงไม่ง่ายอย่างแน่นอน ทางบริษัทได้จ้างที่ปรึกษามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอีกครั้ง และอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรเพิ่ม มีทั้ง ปตท.และต่างชาติอีก 2 บริษัท แต่ยังไม่พิจารณา ทั้งเอเชีย ยุโรป ที่มีความชำนาญด้านการบริหารพัฒนาที่ดิน ก่อสร้าง ผลิตขบวนรถ รวมถึงกลุ่มซีพีด้วย

แย้มคุย ปตท.-ซีพี

“ปตท.เป็นบริษัทใหญ่ ต้องรอเสนอเข้าบอร์ดก่อน หากตัดสินใจร่วมกับเราก็ยินดี ส่วนซีพีคุยกันตลอด ผมกับเจ้าสัว (ธนินท์ เจียรวนนท์) กินข้าวคุยกันบ่อย คุยทุกเรื่องทั้งบ้านเมือง รถไฟความเร็วสูง ส่วนจะจับมือกันมั้ย ต้องดูความจำเป็นกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วผมจับมือได้กับทุกคน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะร่วมกับซีพี นายคีรีกล่าวว่า เทียบกับบีทีเอสแล้ว กลุ่มซีพีใหญ่กว่ามาก ใครที่เป็นพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพและจริงใจก็ร่วมทุนได้หมด ส่วนสัดส่วนการถือหุ้น ต้องดูความสามารถทางการเงิน การทำงาน ใครเก่งด้านไหน

“ยังคอนเฟิร์มไม่ได้ (เน้นเสียง) ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมด ซีพีเป็นบริษัทใหญ่ ยังไม่ถึงเวลาจะเปิดเผยว่าใครจับกับใคร เป็นความลับทางธุรกิจ ใครจะรู้ว่า ถ้าผมชนะ ซีพีก็อาจมีโครงการบางอย่างที่ผมจะไปร่วมกับเขาได้ ถ้าซีพี ชนะก็อาจมีอะไรบางอย่างที่ผมสามารถทำให้เขาได้เช่นกัน ทั้งการเดินรถ หรือพัฒนาอสังหาฯ เราก็มียูซิตี้ แต่รู้ว่าซีพีตั้งใจจริงและบอกพวกเราตลอดว่า ต้องเข้าไปประมูลเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนต่างประเทศถ้ามาประมูลได้ ก็ยิ่งดี”

และนายคีรีกล่าวอีกว่า “โครงการระดับประเทศ ไม่มีใครใจแคบทำอะไรคนเดียว ผมไม่ได้พูดเล่น ถ้าดูดีมานด์เรื่องรถไฟความเร็วสูงในเวลานี้ยังไม่ใช่ใช่ไหม มองผิวเผินก็ใช่ แต่ถ้ามองถึงอนาคต ทุกประเทศที่เริ่มโครงการต้องมองไปวันข้างหน้า เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศชาติ ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์มาก สนใจทุกคน แต่ไม่หมู แม้รัฐบาลจะร่วมผลักดันในรูปแบบ PPP

“ความสามารถในการเข้าใจทีโออาร์นั้นสำคัญ ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ ความเข้าใจในเรื่องระบบ การคิดต้นทุน การซื้อซองเราเคยผ่านจุดนี้มาหมดแล้ว เพราะรถไฟฟ้าเป็นอาชีพของเรา ผมไม่คิดว่าคู่แข่งจะน่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ผมจะดีใจมาก ถ้ามีคนเข้ามาประมูลเยอะ เพราะเป็นโครงการระดับชาติ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานยิ่งเร็วยิ่งดี ถ้าทำได้มากก็ยิ่งทำให้ประเทศเจริญขึ้น ถ้าโปรเจ็กต์นี้ไม่ได้ก็มีรถไฟฟ้าอีกหลายสาย ทั้งสีส้มตะวันตก สีม่วงใต้” นายคีรีย้ำ

ซุ่มจีบเซ็นทรัลร่วมทุน

รายงานข่าวจากกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR กล่าวว่า นอกจากกลุ่มบีทีเอสจะเจรจากับ ปตท. ซีพี และบริษัทต่างชาติแล้ว ทางกลุ่มยังได้เจรจากับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เพื่อร่วมพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งบีทีเอสไม่เชี่ยวชาญด้านศูนย์การค้าและการพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้ให้กับโครงการ

“เซ็นทรัลมีเงินทุน เชี่ยวชาญค้าปลีก มีศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 อยู่เยื้องสถานีมักกะสันอยู่แล้ว น่าจะต่อยอดกันได้ เหมือนที่กลุ่มเดอะมอลล์สร้าง ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ ติดสถานีพร้อมพงษ์”

ITD-TPI ไม่ตกขบวน

แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เปิดเผยว่า สนใจเข้าร่วมประมูลเช่นกัน กำลังหาพันธมิตรบริษัทไทยอย่าง ปตท. ซีพี ช.การช่าง ส่วนต่างชาติมีจีน ญี่ปุ่น ยุโรป สนใจลงทุนโครงการนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุป

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน กล่าวว่า จะร่วมประมูลแน่นอนกำลังเจรจาพันธมิตรจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เพื่อร่วมทุนเป็นคอนซอร์เตี้ยม โดยทีพีไอถือหุ้นอย่างน้อย 25% ที่สนใจเพราะการก่อสร้างต้องใช้วัสดุถึง 50% ซึ่งทีพีไอมีทุกอย่างและเป็นคู่ค้ากับการรถไฟฯอยู่แล้ว โดยลงทุนซื้อหัวรถจักรและขบวนรถขนส่งสินค้าให้อยู่ในปัจจุบัน