วิบากกรรม “เจ้าพ่อบีทีเอส” บทเรียนครั้งใหญ่กับอนาคตไฮสปีด

สัมภาษณ์

หลังถูกถล่มหนักกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสระบบอาณัติสัญญาณล่มบ่อยครั้งต่อเนื่องหลายวัน นับเป็นครั้งแรกที่ “คีรี กาญจนพาสน์” บิ๊ก บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ออกมาตอบคำถามสังคมสไตล์คนพูดตรง ๆ ถึงปมปัญหาและการชดเชยให้ผู้ใช้บริการ

Q : ระบบอาณัติสัญญาณที่ขัดข้องบ่อย

เป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมองว่าไม่ควรเป็นความผิดของทุกฝ่าย บีทีเอสในฐานะผู้ให้บริการเข้าใจความลำบากและผลกระทบกับผู้โดยสาร ข่าวที่ผ่านมามีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทีโอที ดีแทค กสทช. ต่างมีหน้าที่ของตัวเอง ทีโอทีมีคลื่นของเขาก็ต้องนำมาใช้ ส่วนดีแทคไปร่วมทุนกับทีโอทีเพื่อใช้สัญญาณก็ต้องใช้สิทธิของเขาให้ได้มากที่สุด

ส่วน กสทช.ในฐานะผู้กำกับก็ถือว่าทำได้ตามหน้าที่แล้วตลอด 19 ปี บีทีเอสไม่เคยเกิดปัญหาแบบนี้มาก่อน และไม่คาดคิดจะรุนแรงขนาดนี้ เพราะปกติคลื่นสัญญาณ 2400 เมกะเฮิรตซ์ที่ใช้ไม่เคยมีปัญหา และยังเป็นคลื่นที่ในต่างประเทศใช้อยู่แพร่หลาย แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ผมก็ต้องขออภัยจริง ๆ ส่วนในโซเชียลที่ต่อว่ากันมารุนแรง ผมก็เข้าใจ เพราะทุกคนอยากถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุด

บางคนกล่าวโทษบีทีเอสว่า ทำไมขี้เหนียวเหลือเกิน อยากจะได้กำไรมาก ๆ ใช่หรือไม่ ในฐานะบริษัทมหาชนนั่นถือเป็นภารกิจ แต่ผมไม่เคยคิดว่าจะเอาผู้ถือหุ้นก่อน เพื่อจะให้มีกำไรมากขึ้นอย่างเดียว อันนี้ไม่ใช่สันดานผม บ่นว่ารถแน่น ผมก็ซื้อรถอีก 46 ขบวน ไปรับรถใหม่ที่ตุรกีด้วยตัวเองว่าดีอย่างที่พูดไหม ซึ่งก็ทำได้และผมพอใจ กำลังทยอยส่งมาเรื่อย ๆ จะช่วยแก้ปัญหาคอขวดสถานีสะพานตากสิน ซึ่งยังไม่เสร็จก็จะนำมาเสริมในสายสีลมไปก่อน จะช่วยได้ในระยะหนึ่ง เพราะปัญหาความล่าช้าไม่ใช่แค่ระบบยังมีคอขวดบริเวณสถานีสะพานตากสินด้วย

Q : ความคืบหน้าสถานีตากสิน

กำลังแก้ไขร่วมกับ กทม. ซึ่งแบบเสร็จแล้ว กำลังทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อได้รับอนุมัติจะก่อสร้างทันที ใช้เวลา 2 ปี จริง ๆ การออกแบบและทำ EIA ควรเริ่มตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่มวันนี้ ยังไงบีทีเอสกับ กทม.ต้องตกลงกันให้ได้ ไม่ใช่เรื่องเงินแน่นอนที่จะมาหยุดโครงการนี้ แต่ให้ยึดความถูกต้องใครจะแบ่งลงทุนส่วนไหนต้องมาคุยกัน ผมอยากให้ชาวกรุงเทพฯรู้ว่าผมไม่ได้ขี้เหนียวหรือคิดจะลดต้นทุนอย่างเดียว

Q : มาตรการชดเชยผู้โดยสาร

มีมาตรการทำมาต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายเงินไปแล้วได้รับความเสียหาย แต่คราวนี้รุนแรงเพราะคลื่นสัญญาณรบกวนติดต่อกัน 3 วัน เราทำตามมาตรการที่มีและก็เพิ่มให้ คนที่หยอดเหรียญก็จะคืนเงินให้ ที่ให้ครั้งนี้ถือว่าเกินกว่ามาตรฐาน และใช้ใจมาทำกัน มีค่าใช้จ่าย 10-30 ล้านบาทเราก็ยินดี แต่ขอร้องอย่าให้บริษัทรับทุกอย่าง ผมไม่ได้บ่ายเบี่ยงเพราะเรื่องเกิดที่บีทีเอส เรารับผิดชอบแน่คือทำให้ดีที่สุด แต่บอกว่าบริษัทต้องรับผิดชอบ ต้องจ่ายอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะคุณมีกำไรเหลือเกิน ผมขอให้ความถูกต้องและให้ความเข้าใจกันบ้าง การลงทุนระบบรถไฟฟ้าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นการลงทุนที่ไม่ใช่ว่าจะคุ้มทุน ไม่อยากจะพูดเรื่องอดีตเราลงทุนเอง 100% กทม.ไม่ช่วยสักบาท เป็นเพราะผมเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าผมรู้ก็คงไม่ลงทุน

บีทีเอสมีกำไรทุกวันนี้เพราะไม่มีหนี้จากการเข้ากระบวนการฟื้นฟู แปลงหนี้เป็นทุน ทำให้หนี้ 5 หมื่นล้านถูกตัดออกไป ทำให้ภาระดอกเบี้ยและเงินต้นของการลงทุนนี้ไม่มีและเกิดกำไร ขอให้เข้าใจหัวอกของคนที่ลงทุนในระบบขนส่งมวลชนสำหรับประเทศบ้าง แต่หลังโครงการนี้ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน รัฐลงทุนงานโยธาให้ เอกชนลงทุนระบบเดินรถอย่างเดียว ผมไม่ติดใจที่คนอยากให้รัฐยกเลิกสัมปทานบีทีเอส เพราะหลายคนไม่เคยเห็นสัญญาที่ทำกับกทม.จึงไม่รู้ว่ามีกำหนดอะไรไว้บ้าง ถ้าเคยเห็นเคยอ่านอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร แต่บางคนก็ต่อว่ากันรุนแรงเกินไป สงสัยว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ แต่หลังเราปรับปรุงระบบเสร็จแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น

Q : กสทช.ให้ใช้คลื่น800-900 MHz

เข้าใจว่าเป็นคลื่นความถี่สำหรับรถไฟความเร็วสูง ถ้าให้รถไฟฟ้าใช้ได้ก็ยินดี แต่การเปลี่ยนต้องใช้เวลา ต้องหารือกับบอมบาร์ดิเอร์ เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะการพัฒนาระบบสื่อสารจะไปอีกเรื่อย ๆ การที่จะให้เรามีคลื่นความถี่เอง แม้จะมีค่าใช้จ่ายก็จะพิจารณาอย่างจริงจัง

Q : ประเมินคู่แข่งประมูลไฮสปีดอีอีซี

ไม่อยากเรียกว่าคู่แข่ง ผมจะดีใจถ้ามีคนร่วมประมูลมากๆ เพราะแสดงให้เห็นว่าโครงการของประเทศชาติยังมีคนให้ความสนใจ เราเองก็มีความเข้าใจเรื่องของระบบรถ การคิดต้นทุนและจัดซื้อจัดจ้าง เพราะก็ซื้อมาเยอะแล้ว ซึ่งโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานยิ่งทำได้เร็วก็ยิ่งทำให้ประเทศชาติเจริญมากขึ้นเท่านั้น

Q : สุดท้ายจะเหลือแค่ซีพีกับบีทีเอส

ถ้าไม่มีเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เราจะเข้าร่วมประมูล ส่วนซีพีผมไม่ไปประเมินเขาได้ แต่รู้ว่าเขามีความตั้งใจจริงที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งการเข้าประมูลครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

Q : ได้เจรจากับซีพีหรือไม่

คุยกันตลอด ผมกับเจ้าสัว (ธนินท์ เจียรวนนท์) กินข้าวคุยกันบ่อย ๆ คุยทุกเรื่องทั้งการเมือง รถไฟความเร็วสูง ส่วนจะจับมือกันไหม ขอดูความจำเป็นกับประโยชน์ที่จะได้รับก่อน จริง ๆ ผมจับมือได้กับทุกคน ตอนนี้ไม่มีใครเหมาทุกโครงการคนเดียวต้องเป็นกลุ่ม ส่วนพันธมิตรต่างชาติมี 2 ประเทศที่กำลังคุยกันอยู่ ทั้งเอเชียและยุโรป ซึ่งชำนาญการบริหารที่ดิน ก่อสร้าง และผลิตรถ

Q : ความเป็นไปได้จะร่วมกับซีพี

เคยคุยกัน จริง ๆ ทุก ๆ กลุ่มเขาก็คุยกันหมด แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะประกาศใครจะร่วมกับใคร เพราะมีรายละเอียดต้องคุยกันอีกมาก ถ้าผมชนะซีพีก็อาจจะมีโครงการที่ผมจะไปร่วม ถ้าเขาชนะก็อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ผมทำให้เขาได้ อย่าลืมว่าโครงการระดับประเทศไม่มีใครใจแคบทำคนเดียว ต้องกระจาย

Q : โปรเจ็กต์อื่นจะพัฒนารับอีอีซี

ต้องดูก่อนว่าธุรกิจของเรามีอะไรบ้าง ที่แน่ ๆ ไม่ทำนิคมอุตสาหกรรม ส่วนอสังหาฯจะให้ทำมิกซ์ยูสเราไม่มีที่ดินเยอะเหมือนซีพี

Q : ช่วย กทม.ชำระหนี้สายสีเขียว

กทม.เป็นเจ้าของ เราเป็นผู้รับสัมปทาน อะไรก็แล้วแต่ที่ กทม.จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ก็ต้องเอามาพิจารณาอย่างสะพานตากสินถามว่าใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 1,000 กว่าล้าน ก็ต้องเจรจา เราพร้อมจะลงทุนให้ก่อน ผมจะไม่ให้เรื่องเงินมาเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯคนไหน เราพร้อมร่วมมือจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีนี้ดีที่สุด เมื่อกทม.มีปัญหา จะไม่ช่วยได้อย่างไร แต่จะต้องเข้าไปแบบถูกต้อง ตอนนี้ กทม.มีหนี้กว่าแสนล้าน เพราะรัฐไม่ยอมรับภาระให้ ต้องเจรจากัน ซึ่งกทม.มีสัมปทาน หากจะขยายสัมปทานออกไปอีกจะทำยังไง ก็ต้องมาคุยกัน

Q : คิดค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท

เป็นนโยบายของผู้ว่าฯกทม.(พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) เป็นสิ่งที่ดีจะให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าราคาถูก แต่ต้องคิดถึงการปฏิบัติจริงซึ่งผลศึกษาระบุค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 144 บาท แต่ให้เก็บ 65 บาทส่วนต่างที่เหลือใครจะรับภาระไป ถ้าจัดสรรได้ก็ถือเป็นสิ่งดี ๆ ให้คน กทม. แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ ตอนนี้กำลังเจรจาร่วมกัน

ถ้าจะให้เราแบกรับต้นทุนทั้งหมดอีก ก็ขอกลับไปดูก่อน แต่ก็สงสัยทำไมระบบอื่นรัฐถึงสนับสนุน ตอนนี้เครดิตเรายังดี อาจจะออกให้ก่อนได้ อยากให้จบก่อน ธ.ค.นี้ที่จะเปิดบริการแบริ่ง-สมุทรปราการ ถ้าไม่จบบีทีเอสก็ได้ค่าจ้างเดินรถทุกปีอยู่แล้ว