4 ปีคมนาคมใต้ปีกรัฐบาล คสช. อัด 2.8 ล้านล้านพลิกโฉมระบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศบก ราง น้ำ อากาศ ปฏิรูปการเดินทางและขนส่งเชื่อมโยง 4 ภูมิภาค “บิ๊กเซ็นทรัล” หนุนสร้างไฮสปีด ชู “อยุธยา” เทียบชั้นโอซาก้า-เกียวโต ลุยเจรจาพันธมิตรประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ร่วมทุนมิกซ์ยูสสถานีมักกะสัน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงมีแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปี (2558-2565) เงินลงทุนกว่า 2.8 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ทั้งโครงข่ายถนน มอเตอร์เวย์ ทางด่วน สถานีขนส่งสินค้า รถไฟฟ้า ทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2561 ได้ผลักดันโครงการให้มีการก่อสร้างและขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 21 โครงการ วงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยระบบรางเป็นพระเอกของการลงทุนทั้งหมด เพื่อพลิกโฉมรถไฟไปสู่ยุคใหม่ทั้งการเดินทาง ขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว
ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯและปริมณฑล ครบ 10 สาย ระยะทางรวม 464 กม.ทยอยเปิดบริการสายใหม่ตั้งแต่ปี 2562-2565 มีเส้นทางรถไฟเพิ่มจากปัจจุบัน 4,043 กม. เป็นกว่า 8,000 กม.จากการสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โดยสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางทั้งหมด รถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างจังหวัด และต่างประเทศ
“สถานีกลางบางซื่อจะเสร็จปีེ เปิดบริการปีཻ พร้อมสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต จะเป็นสถานีใหญ่สุดในอาเซียนด้วยพื้นที่ใช้สอย 3 แสน ตร.ม. เมื่อเปิดแล้วจะทำให้พื้นที่บางซื่อเปลี่ยนไป จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยรอบสถานี กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ และสมาร์ทซิตี้ ที่การรถไฟฯ ปตท.และไจก้าร่วมกันศึกษา จะเป็นการสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งมีครบถ้วนทั้งระบบสาธารณูปโภคและการพัฒนาเชิงพาณิชย์”
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนลงทุนคมนาคมทั้งหมดครอบคลุมทั้งประเทศและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะทำให้รูปแบบการคมนาคมของประเทศเปลี่ยนไป มีการย้ายการอยู่อาศัยไปยังชานเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้น จะถูกจริตคนรุ่นใหม่เพราะมีบัตรแมงมุมมาเชื่อมการเดินทาง ตอบโจทย์เอกชนเรื่องลดต้นทุนขนส่ง
ขณะที่นายภาณุมาศ ศรีสุข ประธานคณะกรรมการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ทำให้ลดต้นทุนการขนส่ง แต่อัตราค่าขนส่งไม่ได้ลดลง ซึ่งการรถไฟฯ จึงต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ ระเบียบและข้อกฎหมายให้สอดคล้อง ซึ่งเอกชนพร้อมลงทุนร่วมกับรัฐ เช่น ซื้อหัวรถจักรใหม่
ส่วนนายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมน้อยมาก เพิ่งเริ่มเห็นการลงทุนครั้งใหญ่ ตัวเอกคือ EEC และโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม มูลค่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประเทศเติบโตในอนาคต และหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เมืองในรัศมีกรุงเทพฯออกไป 160 กม. มีความเจริญและขยายตัวมาก เช่น อยุธยา ถ้ามีระบบฟีดเดอร์มาเชื่อมกับสถานีจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า ไม่ต่างจากโอซากาและเกียวโตของญี่ปุ่น
ในส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีการจัดเซตผังเมืองใหม่ในพื้นที่พัทยา อู่ตะเภาและระยอง จะเป็นเมืองที่สวยที่สุดในโลก ทำให้เกิดกรุงเทพฯ 2 เพราะ 3 จังหวัดนี้มีพื้นที่รวม 1,700 ตร.กม. เท่ากับกรุงเทพฯ นอกจากนี้อยากให้รัฐพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ให้ครบสมบูรณ์ เชื่อมคลัสเตอร์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด เช่น ภาคเหนือเชื่อมเชียงราย และเชียงใหม่ ภาคใต้เชื่อมภูเก็ต พังงา กระบี่
ล่าสุดเซ็นทรัลร่วมซื้อซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพัฒนาที่ดินเป็นหลัก เช่น ดีมานด์ตลาด กลุ่มลูกค้า โดยสนใจลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่มากที่สุด ส่วนจะร่วมทุนกับใครยังไม่สรุป ซึ่งที่ผ่านมามีการคุยกันหลายราย ทั้งกลุ่มซี.พี. และบีทีเอส แต่คงไม่เป็นแกนนำยื่นประมูล แต่จะร่วมทุนด้านที่ดินเท่านั้น เนื่องจากเงื่อนไขทีโออาร์คนที่จะร่วมลงทุนจะต้องซื้อซองประมูลด้วย สุดท้ายคาดว่าจะมีผู้ร่วมประมูล 5-6 กลุ่ม นอกจากนี้เซ็นทรัลยังจะศึกษาการพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่ออีกด้วย