จ่อเวนคืนเพิ่ม 100 ราย สร้างตอม่อรถไฟฟ้า”สายสีชมพู”

รฟม.จ่อเวนคืนเพิ่ม 100 ราย เคลียร์พื้นที่ปักตอม่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู หลังกรมทางหลวงบี้ให้ลดขนาด หวั่นกระทบทางเท้าถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ มีนบุรี บีทีเอสยันปรับได้ไม่มาก เดินหน้าลุยก่อสร้างเต็มสูบพร้อมสายสีเหลือง ดันส่วนต่อขยายไปยังเมืองทองธานีและแยกรัชโยธิน เสร็จเปิดบริการพร้อมกันในปี”64

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันได้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง เข้าเริ่มงานก่อสร้างหลังกรมทางหลวง (ทล.) ส่งมอบพื้นที่ให้แล้ว ซึ่งจะเดินหน้าก่อสร้างนับจากนี้ มีกำหนดแล้วเสร็จ 3 ปี 3 เดือน พร้อมเปิดบริการในปี 2564

ทั้งนี้ ในส่วนของสายสีชมพูยังติดปัญหาเรื่องแบบก่อสร้างช่วงถนนติวานนท์และถนนแจ้งวัฒนะ ที่กรมทางหลวงต้องการให้ปรับลดขนาดตอม่อเพื่อให้มีช่วงระยะห่างสำหรับการกลับรถ และคงช่องจราจรถนนเดิมไว้เท่าเดิม ทั้งนี้ หากผู้รับเหมาไม่สามารถปรับลดขนาดลงได้ อาจจะต้องมีการเวนคืนบริเวณทางเท้าเพิ่มเติม

“ในรายละเอียดกำลังคุยกันว่าจะปรับแค่ไหนอย่างไร โดยกรมทางหลวงอยากให้ขยายความยาวระยะช่วงเสาให้ห่างขึ้น เพื่อให้คงจุดกลับรถบริเวณเกาะกลางในหลาย ๆ จุดเอาไว้ ซึ่งหากจะต้องทำตามที่กรมทางหลวงเสนอมาก็ไม่จำเป็นต้องเวนคืนเพิ่มเติม เพราะใช้พื้นที่เกาะกลางเดิมของถนนก่อสร้างอยู่แล้ว เพียงแต่ขยายระยะห่างของเสาตอม่อเท่านั้น”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ด้านการต่อขยายของสายสีชมพูจากศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กม. มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 ตั้งอยู่บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี และส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจากแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. มีสถานี YLEX-01 อยู่หน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานี YLEX-02 อยู่บริเวณสถานีตำรวจพหลโยธิน จะมีทางเดินเชื่อมไปยังสถานีพหลโยธินของสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่กลุ่มบีเอสอาร์ (บีทีเอสฯ-ซิโน-ไทยฯ-ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) ผู้ลงทุนโครงการเสนอแผนเข้ามานั้น

ขณะนี้ทั้ง 2 ส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายสายใหม่ที่ไม่อยู่ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า 10 สายตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดไว้

เมื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้แล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติเพื่อบรรจุไว้ในแผนแม่บท และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จากนั้น รฟม.จะเจรจากับกลุ่มบีทีเอสเพื่อลงทุนโครงการ

ต่อไป คาดว่าการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในปี 2561 นี้ เพื่อเอกชนจะได้ลงทุนก่อสร้างให้แล้วเสร็จเปิดบริการพร้อมกับสายสีชมพูและสีเหลืองที่เป็นสายหลักในปี 2564

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาแบบก่อสร้างของผู้รับเหมาของสายสีชมพูตลอดแนวเส้นทางที่การก่อสร้างตอม่อจะกระทบต่อผิวทางเท้า ให้ปรับลดลงเหลือ 1.50 เมตร เพื่อที่จะคงขนาดช่องจราจรที่จะรอเลี้ยวยูเทิร์นมีเพียงพอ ซึ่ง รฟม.จะต้องไปเวนคืนเพิ่มเติมทั้งเส้นทางคาดว่าประมาณ 100 ราย ซึ่งแต่ละรายเวนคืนประมาณ 10-20 เมตร หากปรับอาจจะกระทบต่อต้นทุนก่อสร้าง ทั้งนี้ รอทาง รฟม.หารือกับเอกชนที่ลงทุนเนื่องจากมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า รฟม.แจ้งให้เริ่มสัญญาสายสีชมพูกับสีเหลืองแล้วเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา จากนี้จะเริ่มงานก่อสร้างอย่างจริงจังให้แล้วเสร็จตามสัญญา ส่วนเรื่องการที่กรมทางหลวงให้ปรับแบบของสายสีชมพูนั้น จะดำเนินการเท่าที่ทำได้

ล่าสุดได้ส่งแบบให้ รฟม.และกรมทางหลวงพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ หาก รฟม.ต้องมีเวนคืนเพิ่ม คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนงานก่อสร้างของโครงการ