รื้อค่าตั๋วบีทีเอสแลกหนี้”สายสีเขียว” ธ.ค.นี้ถูก-แพงเก็บตามระยะทาง”ใต้ดิน/ด่วน”ขึ้นด้วย

เปิดแน่ธ.ค.นี้ - รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย "แบริ่ง-สมุทรปราการ"ที่สร้างเสร็จ อยู่ระหว่างบีทีเอสติดตั้งทดสอบระบบอาณัติสัญญาณ และรถขบวนใหม่จะมาถึง ส.ค.นี้ แม้ กทม.จะยังไม่มีข้อยุติเรื่องรับโอนหนี้มูลค่ากว่า 1.1 แสนล้าน แต่ก็ยืนยันต้นธ.ค.นี้จะเปิดบริการแน่นอน พร้อมเก็บค่าโดยสารใหม่ตามระยะทาง สูงสุดไม่เกิน 65 บาท
กทม.บีบ BTS เจรจารับหนี้ 1.1 แสนล้าน พ่วงเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท สายสีเขียวส่วนต่อขยายให้จบก่อนเปิดหวูดสายแบริ่ง-สมุทรปราการ ด้าน “อัศวิน” ลั่นคุยไม่จบ ส่งโครงการคืนสู่อ้อมอก รฟม. ดึงเข้าร่วมทุน PPP ด้าน “คีรี กาญจนพาสน์” แอ่นอกช่วยรับหนี้ก้อนโตแน่ แต่ค่าโดยสารต้องรื้อใหม่ทั้งพวง เริ่มเก็บ ธ.ค.นี้ ดีเดย์ ส.ค.นำรถขบวนใหม่ ซื้อจากซีเมนส์ วิ่งทดสอบระบบ คนกรุงจ๊ากค่าครองชีพพุ่ง รถไฟฟ้าใต้ดินเริ่มเก็บค่าโดยสารใหม่ 3 ต.ค.นี้ ส่วนทางด่วนจ่อปรับขึ้นอีก 5 บาท

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างเตรียมรายละเอียดการรับโอนทรัพย์และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 111,175.20 ล้านบาท จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบเดินรถให้ต่อเนื่องกันทั้งโครงข่ายให้สภา กทม.พิจารณา จะเร่งให้ได้ข้อสรุปก่อนเปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 13 กม.ภายในเดือน ธ.ค.นี้

บีบ BTS รับหนี้แสนล้าน

“แนวทาง กทม.จะไม่รับภาระหนี้ทั้งหมด เพื่อจะไม่ให้เป็นภาระผูกพันงบประมาณประจำปีของ กทม.ในระยะยาว เพราะเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่า 1 แสนล้านบาท แต่จะให้เอกชนมารับสัมปทานโครงการและรับภาระหนี้ทั้งหมดไป อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานรายเดิม มีหลายโมเดล รวมถึงโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งโครงข่าย ที่จะต้องปรับใหม่ คิดตามระยะทาง มีอัตราสูงสุด 65 บาท ซึ่งบีทีเอสยังไม่รับปากค่าโดยสารจะเก็บตามนี้หรือไม่”

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า หากไม่สามารถตกลงกับบีทีเอสได้ก่อนที่ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.นี้ จะคืนโครงการกลับไปให้ รฟม. รวมถึงการที่ กทม.ขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้เงินให้ เพื่อหาแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกแทนนั้น ก็จะไปบอกยกเลิกทันทีเช่นกัน

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะกำกับดูแลสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ เริ่มทดสอบระบบเดินรถแล้ว ส่วนภาระการรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินนั้น กำลังจะเสนอร่างข้อบัญญัติกู้เงินจากกระทรวงการคลังให้สภา กทม.พิจารณาในวันที่ 25 ก.ค.นี้ โดยยังยืนยันตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. คือ การรับโอนหนี้และทรัพย์สินทั้งหมดจะไม่ให้ กทม.ต้องเสียงบประมาณแม้แต่บาทเดียว จึงเปิดประมูลให้เอกชนมารับภาระตรงนี้แทน

ยัน ธ.ค.เก็บค่าโดยสารใหม่

“ส่วนท่าทีของบีทีเอสจะให้ กทม.รับหนี้ไปบางส่วนนั้น ต้องยืนยันตามนโยบายผู้ว่าฯก่อน ถ้าเอกชนรายใดรับภาระไม่ไหวก็ไม่ควรเข้ามาประมูล เราต้องการให้มีเอกชนเจ้าอื่นเข้ามาแข่งขันนอกจากบีทีเอส ปัญหานี้จะไม่กระทบกับการเปิดเดินรถเดือน ธ.ค.นี้ และจะไม่เปิดให้ใช้บริการฟรี จะมีการเก็บค่าโดยสาร อยู่ระหว่างพิจารณาเก็บค่าโดยสารตามโครงสร้างใหม่ที่ไม่เกิน 65 บาท”

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กล่าวว่า ในฐานะบีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถให้ กทม. มีความพร้อมจะช่วยรับภาระหนี้ของสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา แต่จะต้องเข้าไปดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยมีการเจรจาในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ลักษณะการจ้างเดินรถหรือจะเป็นการให้สัมปทาน แล้วถ้าเป็นสัมปทานจะมีการขยายระยะเวลาเพิ่มหรือไม่ ในเมื่อสัมปทานเดิมของบีทีเอสจะครบกำหนดในปี 2572 เรื่องของอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากจะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก จะกำหนดรูปแบบไหน

โดยที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายจะให้เก็บตามระยะทางเริ่มต้น 16 บาท สูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี เพื่อจะให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาถูก แต่ต้องคิดถึงหลักการในการปฏิบัติจริง ซึ่งในผลศึกษาระบุค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 144 บาท แต่จะให้เก็บ 65 บาทก็ได้ แล้วส่วนต่างที่เหลือใครจะรับภาระไป ถ้าจัดสรรได้ก็ถือเป็นสิ่งดี ๆ ให้คน กทม. แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ทำไม่ได้ ตอนนี้กำลังเจรจาร่วมกัน ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ซึ่งอยากให้จบก่อนเดือน ธ.ค.นี้ที่จะเปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

ส.ค.อวดโฉมรถขบวนใหม่

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเริ่มทดสอบระบบของสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการแล้ว และภายในเดือน ส.ค.นี้รถไฟฟ้าใหม่ขบวนแรกที่สั่งซื้อจากซีเมนส์ จะมาถึงประเทศไทย เพื่อนำมาวิ่งทดสอบระบบ จากนั้นทางซีเมนส์จะทยอยส่งมอบรถให้จนครบทั้งหมด 22 ขบวน

โดยรถขบวนใหม่จะนำมาวิ่งให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และวิ่งบริการในเส้นทางเดิม เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่หนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งรถขบวนใหม่ได้ปรับโฉมใหม่ให้ดูโฉบเฉี่ยวทันสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีพื้นที่จุคนได้มากขึ้นอีกด้วย

รฟม.จ่อดึงสายสีเขียวเข้าPPP

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ คาดว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือน ม.ค. 2562 มี 9 สถานี มีผู้โดยสาร 160,000 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มี 16 สถานี จะเปิดบริการปี 2563 โดยปี 2562 คาดว่าจะเปิดก่อน 1 สถานี จากหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว คาดว่ามีผู้โดยสาร 330,000 เที่ยวคนต่อวัน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หาก กทม.ไม่สามารถรับภาระหนี้ของสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ เพื่อให้การเปิดเดินรถได้ตามแผนในเดือน ธ.ค.นี้ รฟม.จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost 30 ปี ในส่วนของงานระบบมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้เสนอผลการศึกษาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ให้กับกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว อาจจะเชิญบีทีเอสมาเจรจาก่อน

รถไฟฟ้าใต้ดิน-ทางด่วนขึ้นราคา

นอกจากนี้นายภคพงศ์ยังกล่าวถึงการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับสัมปทาน จะเก็บค่าโดยสารใหม่วันที่ 3 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เริ่มต้น 16 บาท สูงสุด 42 บาท โดยมี 3 สถานีเก็บเพิ่ม 1 บาท คือ สถานีที่ 5, 8 และ 11 นับจากสถานีต้นทาง หลังเลื่อนจากวันที่ 3 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่แล้ว ในส่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางเพิ่ม 5 บาท ในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2ที่มี BEM รับสัมปทาน จะครบกำหนดตามสัญญาวันที่ 1 ก.ย.นี้ ที่มีการพิจารณาปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

สำหรับอัตราค่าผ่านทางปัจจุบัน ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาท มากกว่า 10 ล้อ 110 บาท ส่วนทางพิเศษศรีรัช ส่วน C รถ 4 ล้อ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 35 บาท ส่วน D รถ 4 ล้อ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ 55 บาท มากกว่า 10 ล้อ 75 บาท

ขณะเดียวกันจะมีทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ที่ BEM รับสัมปทานและมีรายได้ค่าผ่านทาง 100% จะครบกำหนดวันที่ 1 พ.ย. 2561 จากปัจจุบันช่วงแจ้งวัฒนะ-เชียงราก รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 100 บาท มากกว่า 10 ล้อ 150 บาท และช่วงเชียงราก-บางไทร รถ 4 ล้อ 10 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 30 บาท