“เอสซี” บุกหนักครึ่งปีหลังส่งแนวราบทุกราคาเจาะทุกทำเล

เอสซีโกยรายได้ครึ่งปีแรก 7,493 ล้าน โต 44% คาดทั้งปีทะลุ 14,800 ล้าน ครึ่งปีหลังลุย เปิด 9 โครงการใหม่ ส่งแนวราบ 5 แบรนด์ บุกทุกทำเล ทุกระดับราคา

นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 เทียบกับปี 2559 มียอดขายรวม 7,493 ล้านบาท เติบโต 44% มาจากยอดขายแนวราบ 4,491 ล้านบาท เติบโต 14% และยอดขายคอนโดฯ 3,002 ล้านบาท เติบโต 137% ทั้งปีคาดว่ามียอดขาย 16,000 ล้านบาท และรับรู้รายได้ 14,800 ล้านบาท

ในครึ่งปีหลังจะเปิดโครงใหม่ เป็นแนวราบทุกระดับราคา จำนวน 9 โครงการ มูลค่า 11,450 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 แบรนด์ ได้แก่ 1.แบรนด์ The Gentry โครงการเดอะเจนทริ พระราม 9 เริ่มต้น 30 ล้านบาท 2.แบรนด์ Bangkok Boulevard บางกอกบูเลอวาร์ด ทำเลรังสิต, สาทร-ราชพฤกษ์, ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์, แจ้งวัฒนะ และสาทร-ปิ่นเกล้า เริ่มต้นที่ 6-20 ล้านบาท

3.แบรนด์ Pave มีโครงการเพฟรามอินทรา-วงแหวน เริ่มต้น 4 ล้านบาท 4.แบรนด์ Work Place โครงการเวิร์คเพลส แจ้งวัฒนะ เริ่มต้น 9 ล้านบาท และ 5.แบรนด์ Verve โครงการเวิร์ฟ เพชรเกษม 81 เปิดปลายปีจะเปิดทาวน์โฮม ขนาด 2 ชั้น เริ่มต้น 2.59 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแบบบ้าน New Normal สำหรับลูกค้าที่ไลฟ์สไตล์คนโสด ซึ่งในตัวเลขในอีก 25 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนถึง 14%

“ปีนี้เอสซี มีโครงการเพื่อขาย 44 โครงการ มูลค่า 44,135 ล้านบาท แบ่งเป็นอยู่ระหว่างพัฒนา 35 โครงการ และอีก 9 โครงการในครึ่งปีหลัง อีกทั้งยังเพิ่มงบฯซื้อที่ดินเป็น 9,100 ล้านบาท” นายณัฐพงศ์กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ยังร่วมกับเอไอเอสพัฒนาแอปพลิเคชั่น ชื่อ “รู้ใจ” (Ruejai) ให้บริการสำหรับลูกค้าเอสซี ในการออกแบบบ้านในอนาคตโดยจะเปิดตัวโครงการในไตรมาสที่ 4/2560

“จากนโยบายเชิงรุก คาดว่าบริษัทจะเติบโตต่อเนื่อง 3 ปี ทำให้มีรายได้ถึง 20,000 ล้านบาท ในปี 2562” นายณัฐพงศ์กล่าวและว่า

ทั้งนี้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันมองว่าจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 3.2% เป็น 3.5% โดยปัจจัยหลักมาจากการลงทุนภาครัฐ รวมถึงภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนภาคลงทุนเอกชนและการบริโภคนั้นยังคงไม่เติบโตเท่าที่ควร และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้

สำหรับบริษัทมียอดปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะแนวราบในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สัดส่วนใกล้เคียง เดิมที่ประมาณ 10% โดยสัดส่วนการชำระเงินสดโดยเฉพาะในกลุ่มระดับบน สูงถึง 50% สูงกว่าปีที่ผ่านมา


สรุปได้ว่าดีมานด์ในตลาดยังมีการเติบโต แต่สถานการณ์ของหนี้ทำให้ความสามารถในการใช้เงินอนาคตน้อยลง จึงมีแนวโน้มที่จะใช้เงินสดมากขึ้น