ญี่ปุ่นรับปากผลิตโบกี้”รถไฟฟ้าสายสีแดง”เสร็จแน่ปีหน้า

เร่งผลิต - รูปแบบภายนอกและภายในขบวนรถที่จะใช้วิ่งบริการในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง "ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต" โดยบริษัท อิตาชิจากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ออกแบบและผลิตให้ วิ่งด้วยความเร็ว 120-160 กม./ชม. จะเปิดไลน์ผลิตในเดือน ส.ค.นี้ส่งมอบให้ไทยในปี 2562 พร้อมเปิดบริการกลางปี 2563

คมนาคมจี้ญี่ปุ่นเปิดไลน์ผลิตขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง “ฮิตาชิ” รับปากเริ่ม ส.ค.นี้ ปีหน้าส่งมอบชัวร์ ด้าน ร.ฟ.ท.มึนโครงการเสร็จไม่มีระบบไฟฟ้าจ่ายทดสอบเดินรถ เตรียมควัก 50 ล้านซื้อไฟฟ้าสำรองแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เร่งบูรณะโครงการสร้างช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เข็นเปิดหวูดพร้อมกันกลางปี”63

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างร่วมคณะกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 18 ก.ค. 2561 ได้ติดตามเร่งรัดการผลิตรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งบริษัทฮิตาชิที่เป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ประกอบด้วย

มิตชูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม ที่ชนะประมูลด้วยวงเงิน 32,399 ล้านบาท ให้ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบรถได้ตามกำหนดภายในปีหน้า จากนั้นจะทดสอบพร้อมเปิดใช้ในปี 2563 คาดว่ามีผู้โดยสารอยู่ที่ 300,000 เที่ยวคนต่อวัน ปัจจุบันงานก่อสร้างช่างบางซื่อ-รังสิตคืบหน้าแล้ว 67% ส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันสร้างเสร็จแล้ว

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางฮิตาชิได้รายงานว่าจะเปิดไลน์การผลิตขบวนรถของสายสีแดงภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งมีการปรับการดีไซน์สีคาดตัวรถใหม่ โดยจะใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบให้ภายใน 14 เดือน หรือภายในปลายปี 2562 จากนั้นจะเริ่มนำมาทดสอบระบบ คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ก.ค. 2563

“การก่อสร้างสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ปีนี้งานก่อสร้างโครงสร้างทางยกระดับพร้อมสถานีและสกายวอล์ก 12 แห่ง เชื่อมจากสถานีจตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน หลักสี่ เคหะทุ่งสองห้อง และดอนเมือง ข้ามถนนวิภาวดีฯจะเสร็จ ส่วนสถานีกลางบางซื่อเสร็จปี”62 แต่การเปิดใช้อาจจะล่าช้าไปบ้าง”

เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องของระบบไฟฟ้าที่จะนำมาใช้จ่ายไฟในการทดสอบรถ เพราะทางการไฟฟ้านครหลวงไม่สามารถก่อสร้างสถานีจ่ายไฟให้เสร็จตามกำหนด กำลังพิจารณาจะซื้อไฟฟ้าสำรองจากการไฟฟ้านครหลวงมาทดสอบการเดินรถไปก่อน คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้ระบบ ETCS และคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ กสทช.จัดสรรให้ ซึ่งจะไม่มีปัญหาเหมือนกับรถไฟฟ้าบีทีเอส

สำหรับรูปแบบรถไฟฟ้าที่จะใช้ให้บริการในโครงการ เป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร มีระบบสายส่งไฟเหนือศีรษะ เป็นระบบเทคโนโลยีของฮิตาชิจากประเทศญี่ปุ่น ถูกออกแบบวิ่งได้ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่วิ่งให้บริการจริงด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. ขบวนรถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน และประเภท 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน

นอกจากนี้ จะต้องเตรียมงบประมาณจำนวน 10-20 ล้านบาท สำหรับบูรณะสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่สร้างเสร็จไปตั้งแต่ปี 2555 เช่น อุปกรณ์ในห้องน้ำที่ชำรุด ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) มาดูแลโครงการ