‘ศรีสุวรรณ’ จ่อฟ้องศาลทุจริตหากใช้เงื่อนไขประมูลเดิม หวังฮุบที่ดินมักกะสันเชื่อมโครงการรถไฟ 3 สนามบิน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯได้ออกแถลงการณ์ ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการทบทวนและแก้ไขเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์)โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ส่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ หลังจากสมาคมฯและเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน สหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) และผู้แทนสหภาพรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ยื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ว่าการประกาศทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มีการฮุบที่ดินกว่า 140 ไร่ บริเวณมักกะสันของ รฟท.เข้าไปรวมอยู่ในโครงการฯด้วยนั้น ถือว่าส่อไปในทางทุจริต กรณีทรัพย์สินของรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

แถลงการณ์ระบุว่า 1.ทีโออาร์โครงการฯดังกล่าว จงใจขัดพระบรมราชโองการของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ทรงเมตตาพระราชทานที่ดินบริเวณมักกะสันให้เป็นของ รฟท.เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ควรเป็นที่ดินในครอบครองของนายทุนเอกชนจะนำไปดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด

2.ทีโออาร์ได้ผนวกที่ดินของ รฟท.บริเวณมักกะสันกว่า 140 ไร่ไปให้เอกชนพัฒนาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระบบราง ถือได้ว่าจงใจที่จะกระทำด้วยประการใดๆ ให้ที่ดินดังกล่าวตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนตลอดระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560มาตรา ๕56ประกอบมาตรา 164 (1)(3)

3.ทีโออาร์จงใจที่จะประเมินราคาที่ดินบริเวณมักกะสันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะตามที่รักษาการผู้ว่าฯ รฟท.แถลงว่าราคาที่ดินมักกะสันราคาเพียง 6 แสนบาทต่อตารางวา (ตรว.) แต่ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีการซื้อขายกันถึง ตรว.ละ 1.8 ล้านบาท ที่ดินสถานทูตอังกฤษมีการซื้อขาย ตรว.ละ 2ล้านบาท ทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้านมูลค่าที่ดินไปมากกว่า 286,400 ล้านบาท

4. โครงการฯดังกล่าว จงใจที่จะยึดแอร์พอร์ตเรลลิงค์มูลค่า 4หมื่นล้านบาทไปประเคนให้เอกชนในราคาเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้รฟท.ต้องแบกภาระหนี้จากการลงทุนต่อไปอีกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ชี้ให้เห็นว่ารัฐไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม

5.โครงการนี้จงใจเขียน “ล็อคสเปก” เพื่อ “ฮั้วประมูล” ให้เอกชนบางรายที่ตกเป็นข่าวเป็นการเฉพาะ เข้าข่ายความผิดตาม “พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 เนื่องจากเป็นการผูกโยงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน กับกิจกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบสถานีเข้าด้วยกัน ทำให้มีเพียงกลุ่มนายทุนระดับชาติเพียงไม่กี่รายที่สามารถจับมือกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากต่างประเทศได้ จึงเป็นการเขียนทีโออาร์แบบล็อคสเปก เพื่อกีดกันนักลงทุนขนาดกลางและเล็กที่จะหมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูล และที่ดินมักกะสัน 140ไร่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 3 จังหวัดของอีอีซีแต่อย่างใด

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการโดยไม่มีการทบทวนหรือแก้ไขทีโออาร์ตามข้อเรียกร้อง ถือได้ว่านายกรัฐมนตรีและรักษาการผู้ว่า รฟท. จงใจจะใช้อำนาจไปในทางมิชอบและมีเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางรายเป็นการเฉพาะสมาคมฯ และเครือข่ายจะใช้สิทธิร้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อหาข้อยุติ และสมาคมฯ จะเดินทางไปยื่นคำร้องเพิ่มที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล ตึก กพร.เดิม ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้

 


ที่มา มติชนออนไลน์