“ศุภชัย”เฟ้น4พันธมิตรลุยไฮสปีดEEC เล็งลงทุนเพิ่มหมื่นล้านรื้อแนวรถไฟฟ้าอู่ตะเภา-ระยอง

ซีอีโอ ซี.พี. “ศุภชัย เจียรวนนท์” เฟ้น 4 พันธมิตรก่อสร้างงานระบบ บริหารโครงการ พัฒนาที่ดิน ลงขันไฮสปีดอีอีซี 2.2 แสนล้าน มาครบไทย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป แย้มคุยทุกราย บีทีเอส บิ๊กรับเหมา คาด 3 เดือนสรุป ร.ฟ.ท.เร่งศึกษาต่อขยายจากอู่ตะเภา-ระยอง ลงทุนเพิ่ม 1 หมื่นล้านรื้อแนวใหม่ เบี่ยงหลบนิคมมาบตาพุด เวนคืนที่ดินเพิ่ม เปิดทางเอกชนยื่นข้อเสนอซองพิเศษ จับตาบูมนิคมไทย-จีน 3 พันไร่ของกลุ่มซีพี

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกลุ่มซีพีได้ซื้อซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา TOR ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจมีเวลาอีก 3 เดือนถึงกำหนดยื่นประมูลในวันที่ 12 พ.ย. 2561

จับ 4 พันธมิตร

ส่วนพันธมิตรลงทุนจำเป็นต้องมีแน่นอน เนื่องจากตาม TOR กำหนดให้มีพันธมิตรร่วม 4 ด้านประกอบด้วย ด้านก่อสร้าง ด้านระบบรถไฟ ด้านการบริหารจัดการ และด้านพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยพันธมิตร 1 ราย อาจทำได้ 2 ด้านก็ได้ เช่น งานระบบ และรถไฟฟ้า

“พันธมิตรเรากำลังวางแผนคุยกันหลายราย ในส่วนการก่อสร้างก็ต้องใช้ผู้รับเหมารายใหญ่ภายในประเทศอยู่แล้วซึ่งมีการคุยกับทุกเจ้า ไม่ว่าช.การช่าง ขณะที่การร่วมกับบีทีเอสก็มีความเป็นไปได้ แต่เราพูดแทนใครไม่ได้”

ควงไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป

นายศุภชัยกล่าวว่า พันธมิตรต่างชาติขณะที่นี้ยังไม่ได้สรุป เนื่องจากมีการพูดคุยกับหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป “ระบบของฝรั่งเศสก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ยังไม่สรุปเป็น TRANSDEV หรือไม่มีรายอื่น ๆ ด้วย เพราะว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้”

ใช้เงินทุนในประเทศ

ขณะที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสันกับสถานีศรีราชา ก็จำเป็นต้องมีหลายพันธมิตรเช่นเดียวกัน เนื่องจากพื้นที่พัฒนาที่โครงการมีขนาดใหญ่ จะต้องมีการพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส ส่วนเงินทุนจะใช้เงินในประเทศ เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างกล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 31 บริษัทที่ซื้อ TOR ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กำลังศึกษารายละเอียด ยังไม่สรุปร่วมทุนกับใครบ้าง อีก 1-2 เดือน น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น

คาด 6 กลุ่มยื่นประมูล

คาดว่าผู้เข้าประมูล คือ 1.กลุ่ม ซี.พี.ร่วมกับบริษัทรัฐวิสาหกิจจากจีน ซึ่งกำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่ สปป.ลาว อาทิ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น,บจ.ซิติก กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น และ บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ส่วนผู้รับเหมาไทยมีหลายบริษัทได้เจรจาอยู่ เช่น อิตาเลียนไทย, ยูนิคฯ ส่วนงานระบบคาดว่า ซี.พี.ร่วมกับ บจ.SNCF INTERNATIONAL และ บจ.ทรานส์เดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส

2.กลุ่มบีทีเอสร่วมกับซิโน-ไทยฯ และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง อาจมี ปตท.และเซ็นทรัลพัฒนาเข้าร่วม ยังเจรจาไม่จบ 3.กลุ่ม ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กำลังหาพันธมิตรจากยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

4.กลุ่มอิตาเลียนไทย อาจยื่นประมูลเองโดยร่วมกับบริษัทยุโรป อาทิ บจ.Salini Impregio S.p.A. จากอิตาลี และ บจ.ทรานส์เดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส ที่เคยยื่นประมูลโมโนเรลสายสีชมพูและสีเหลืองมาแล้ว และอาจมี บจ.ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย)

5.กลุ่มเทอดดำริ และ บจ.WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD จากมาเลเซีย และ 6.ทีพีไอ กำลังเจรจาหาพันธมิตรจีน ญี่ปุ่น และยุโรป

BTS ยังเจรจารายใหม่ไม่จบ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ขณะนี้พันธมิตรบีทีเอสยังคงเป็นรายเดิม คือ ซิโน-ไทยฯ และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ยังไม่มีพันธมิตรจะร่วมทุนเพิ่มเป็นรายที่ 4 และ 5 เนื่องจากยังเจรจากันอยู่มีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ

“แต่ละรายต้องดูเนื้องานตัวเองก่อน ถึงจะสรุปได้ว่าร่วมประมูลหรือร่วมกับใครได้ น่าจะสรุปใน 2 เดือนนี้”

เร่งขยายไประยอง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะเร่งศึกษาส่วนต่อขยายจากอู่ตะเภาไประยอง ระยะทาง 30-40 กม.ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้เสริมโครงข่ายให้กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่สร้างถึงอู่ตะเภา โดยมี 1 สถานี คือที่ระยอง

“ตามแผนเดิมจะสร้างจากกรุงเทพฯ-ระยองอยู่แล้ว แต่เมื่อมี EEC จึงตัดสร้างถึงอู่ตะเภาก่อน เพราะช่วงจากอู่ตะเภา-ระยอง แนวเส้นทางจะต้องตัดผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะต้องใช้เวลาพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นาน จำเป็นที่จะต้องปรับแนวใหม่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”

รื้อแนวหนีนิคมมาบตาพุด

โดยแนวใหม่อาจจะขยับไปตรงพื้นที่ว่างที่อยู่ด้านซ้ายและด้านขวาแทน จะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มหรือจะเบี่ยงแนวไปใช้พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 3 สัตหีบ-บ้านฉาง-ระยอง ของกรมทางหลวง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา สำหรับตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงระยองจะห่างจากศูนย์กลางเมืองประมาณ 4 กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจุดตัดของถนน 36 กับถนน 3138

ส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง จะเป็นการลงทุนเฟสที่ 2 ตามแผนจะเปิดให้บริการช้ากว่าเฟสแรก 1 ปี จะเปิดในปี 2567 ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลแยกออกมาอีกโครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่ม ช่วงที่ต้องเบี่ยงไปแนวใหม่ แต่คาดว่าไม่มาก

อย่างไรก็ตาม หากเอกชนที่เข้าร่วมประมูลหากมีที่ดินรองรับก็สามารถเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยเสนอเข้ามาเป็นซองที่ 4 ถ้าหากมองว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการได้ ซึ่งในผลการศึกษาเดิมระบุไว้อยู่แล้วว่า โครงการจะคุ้มทุนก็ต่อเมื่อสร้างไปถึงระยอง เนื่องเป็นแหล่งงานและที่อยู่อาศัยทั้งคนไทยและต่างชาติ

จับตาปลุกนิคม ซี.พี.คึก

รายงานข่าวแจ้งว่า การที่มีเร่งรัดขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปยัง จ.ระยอง เพื่อรองรับกับนิคมอุตฯ เกิดใหม่อีกหลายแห่ง ล่าสุดทาง ซี.พี.นำที่ดิน 3,068 ไร่ ต.มาบข่าพัฒนา อ.นิคมพัฒนา กับ ต.หนองละลอกอ.บ้านค่าย จ.ระยอง ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 16 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กม. สนามบินอู่ตะเภา 30 กม. และใกล้กับรถไฟความเร็วสูงสถานีระยอง

จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.ระยอง โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ.ซี.พี.แลนด์ กับบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จากเมืองหนานหนิง ประเทศจีน เพื่อรองรับโครงการอีอีซี และนักลงทุนจีนโดยเฉพาะ โดยมีแผนจะพัฒนาที่ดินดังกล่าวเป็นทั้งนิคมและเมืองใหม่ในอนาคต