กทม.คุมเข้มแนวผุด “รถไฟฟ้า” ย้ำผู้รับเหมาห้ามปิดทางน้ำไหล

A BTS train (sky train) drives along a railway track in Bangkok on March 20, 2013. Thailand's cabinet approved a plan to spend 68 billion USD on a high-speed railway and other transportation mega projects to drive the nation's economic development. AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำบริเวณจุดก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่มีผลกระทบต่อการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง ซอยเพชรเกษม 80 และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางแค ระหว่างซอยเพชรเกษม 62/3-4 เขตบางแค ว่า พบว่าบริเวณดังกล่าว ผู้รับเหมาได้การวางท่อระบายน้ำใหม่ แต่น้ำไม่สามารถระบายลงสู่ท่อระบายน้ำเดิมได้ เนื่องจากระดับความลาดเอียงของท่อที่วางใหม่ประมาณ 90 องศา ไม่เหมาะสมทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกได้ ต้องวางในระดับตรงหรือลาดเอียงไม่เกิน 30 องศา จึงเร่งรัดให้ผู้รับจ้างสร้างบ่อพักน้ำเพิ่มเติม

“นอกจากนี้ ยังพบว่าตะแกรงรับน้ำบริเวณทางเข้าอาคารจอดรถมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเพิ่มขนาดตะแกรงรับน้ำใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งการลอกท่อระบายน้ำที่มีเศษหินดินทรายและเศษวัสดุอุดตัน ซึ่งผู้รับเหมายืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ จึงมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขตในพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง” นายจักกพันธุ์ กล่าวและว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ ก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีแดง สายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีชมพู และสายสีทอง และส่วนใหญ่กระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำทั้งสิ้น

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า ในจุดที่ดำเนินการก่อสร้าง 162 แห่ง มีปัญหาการระบายน้ำ 142 แห่ง ขณะนี้ผู้รับเหมาแก้ไขแล้ว 117 แห่ง ส่วนที่กระทบต่อผิวจราจรและทางเท้า 20 แห่ง แก้ไขแล้ว 14 แห่ง “เฉพาะสายสีน้ำเงิน ครอบคลุมพื้นที่ 9 เขต ได้แก่ บางซื่อ บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ภาษีเจริญ บางแค สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และพระนคร ก่อสร้าง 129 แห่ง มีปัญหาต่อระบบระบายน้ำ 115 แห่ง แก้ไขแล้ว 95 แห่ง กระทบต่อผิวจราจรและทางเท้า 14 แห่ง แก้ไขแล้ว 12 แห่ง สำหรับเขตบางแค มีจุดก่อสร้าง 15 แห่ง ได้รับผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ 13 แห่ง แก้ไขแล้ว 9 แห่ง กระทบต่อผิวจราจรและทางเท้า 2 แห่ง แก้ไขแล้ว 1 แห่ง

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์ 

Advertisment