โฉมหน้ารถใหม่ “สายสีน้ำเงิน” “ซีเมนส์” ผลิต ทรวดทรงคล้าย BTS

ยิ่งเปิดเร็ว ยิ่งมีรายได้เร็วขึ้น นั่นคือคำนิยามของ “BEM” ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ขณะนี้กำลังขะมักเขม้นเร่งผลิตรถขบวนใหม่ที่ซื้อเพิ่ม 35 ขบวนเดินทางมาถึงเมืองไทยโดยเร็ว

“สมบัติ กิจจาลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวว่า บริษัทได้เซ็นสัญญากับ บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้างในสัญญางานบริหารโครงการ รวมถึงจัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค วงเงินกว่า 19,642 ล้านบาทซึ่งสั่งซื้อรถ 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ จากบริษัทซีเมนส์ ผลิตจากโรงงานในประเทศเยอรมนี และส่งไปประกอบที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโรงงานเดียวกับของบีทีเอสที่ขบวนแรกมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดย 1 ขบวนสามารถจุคนได้ 1,000 คนต่อขบวน งานดีไซน์จะคล้ายกับของบีทีเอส เช่น ไฟรถจะเป็นตาไอรอนแมน แต่ไม่ทั้งหมด จุดเด่นคือสีภายนอกจะเน้นแถบสีน้ำเงิน ประหยัดพลังงานเพราะใช้ไฟฟ้าน้อย ขณะที่ภายในจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่ม เช่น ราวจับ ไม่มีการถอดเก้าอี้ออก เพราะการถอดเก้าอี้เป็นมาตรการบรรเทาเวลาผู้โดยสารหนาแน่นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เท่านั้น เมื่อมีรถใหม่มาเสริมก็จะใส่ที่นั่งกลับเข้าไปในขบวนเดิม

“ระบบเดินรถเป็นอัตโนมัติทั้งหมด เมื่อประกอบเสร็จจะส่งไปทดสอบการเดินรถที่เยอรมนีประมาณ 2-3 เดือน เพื่อหาข้อบกพร่องและแก้ไขไปในคราวเดียวเลย คาดว่าจะมาถึงประเทศไทย 4 ขบวนแรกปลายเดือน มี.ค. 2562 จากนั้นจะนำมาทดสอบเพื่อทำความคุ้นเคยกับระบบอีก 1 เดือน จะสามารถนำเสริมขบวนรถที่มีอยู่ 19 ขบวนได้จริงประมาณปลายเดือน เม.ย. 2562 จากนั้น ก.ย. 2562 ขบวนรถจะมาเพิ่มอีก 8 เป็น 12 ขบวน และต้นปี 2563 อีก 21 ขบวน เพื่อให้ครบ 35 ขบวนตามที่สั่งซื้อไว้” นายสมบัติกล่าวและว่า

การส่งมอบเดิมจะให้ 3 ขบวนแรกมาถึงประเทศไทยภายในปลายปีนี้ แต่เนื่องจากการจ่ายระบบไฟฟ้าของช่วงหัวลำโพง-บางแคยังไม่สมบูรณ์แบบ จึงยืนตามกำหนดเดิมเป็น มี.ค. 2562 โดยรถ 35 ขบวนใหม่นำมาใช้เดินรถสายสีน้ำเงินเดิม 7 ขบวน และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 28 ขบวน โดยรูปโฉมและสเป็กรถจะทันสมัยและอัพเกรดอุปกรณ์ภายในตัวรถให้มากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ตัวรถโครงสร้างเหมือนเดิม แต่ความจุจะมากขึ้น เช่น ปัจจุบันรับผู้โดยสารได้ 900 คน อาจจะเพิ่มอีก 100 คนต่อตู้